หอการค้า คาด GDP ปี 64 ขยายตัว 2.8% รายจ่ายภาคสาธารณะปัจจัยสำคัญหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว
♦ คาด GDP ปี 2564 ขยายตัว 2.8% โดยตัวเลขจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 2
♦ รายจ่ายภาคสาธารณะปัจจัยสำคัญหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว
♦ ขณะที่ GDP ปี 2563 จะอยู่ที่ -6.3%
ในการแถลงข่าว "ประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2564" เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์ฯ เปิดเผย ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 จะกลับมาฟื้นตัวที่ 2.8% โดย GDP จะขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้งใน Q2/2564 ส่วนอัตราการขยายตัวของ GDP ปี 2563 จะอยู่ที่ -6.3%
โดยรายจ่ายภาคสาธารณะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 ประกอบด้วย
- วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 มูลค่าประมาณ 3.3 ลลบ. (ที่ไม่ล่าช้าเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา)
- งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ (ตามพรบ. กู้เงิน 1 ลลบ.) ที่มีวงเงินเหลือให้เบิกจ่ายได้อีกมูลค่าประมาณ 500,000-600,000 ลบ.
- งบลงทุนรัฐวิสาหกิจมูลค่าประมาณ 291,000 ลบ.
เครื่องบ่งชี้เครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้งใน Q2/64 ที่ 2.8% (YoY)
- การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน จะขยายตัวที่ 2.7% (YoY) ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยกดดันจากความเปราะบางของตลาดแรงงาน และปัญหาภัยแล้ง แต่จะได้มาตรการของภาครัฐช่วยสนับสนุน
- การลงทุนของภาคเอกชน จะขยายตัวที่ 2.8% (YoY) ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามการส่งออก และภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
- การอุปโภคบริโภคของรัฐบาล จะขยายตัวที่ 5% (YoY) โดยขยายตัวได้ดีจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ (พรบ. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท)
- การลงทุนของภาครัฐ จะขยายตัวที่ 12.6% (YoY) การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ
- การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ จะขยายตัวที่ 3.5% (YoY) โดยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยกดดันจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งจะมีผลจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะขยายตัวที่ 1% (YoY) โดยมีแนวโน้มพลิกกลับมาเป็นบวกจากราคาน้ำมันดิบโลกที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
ปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563-2564
- การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนชะลอตัว
- ความเปราะบางทางการเมืองทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง
- เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าปกติและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง
- ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
- ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนทำให้ผู้ส่งออกส่งมอบสินค้าไม่ทันตามกำหนด
- ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563-2564
- การพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อ COVID-19 มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก
- เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์เอาไว้
- ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกเริ่มที่จะฟื้นตัวภายหลังจากการคลาย Lockdown
- ภาครัฐออกมาตรการเยียวยา กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
- การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
- ธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย
โดยในปี 2563 ไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งยอดการส่งออกสินค้าประเภทอุตสาหกรรม (ในรูปดอลลาร์ฯ) กลับมามีมูลค่าสูงเกินกว่าระดับ 15,000 ล้านดอลลาร์ฯ/เดือน ได้อีกครั้งในเดือน ก.ค. 2563 ส่วนดัชนีการบริโภคภาคเอกชน ก็กลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน นำโดยยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ที่จำนวนกลับมาสูงเกินกว่าระดับ 30,000 คัน/เดือนได้อีกครั้งตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 และอัตราการเปลี่ยนแปลงกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้งในเดือน ก.ย. 2563 ด้านดัชนีการลงทุนของภาคเอกชน ส่งสัญญาณฟื้นตัว จากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศในเดือน ส.ค. 2563 มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 18 เดือน ในขณะที่การส่งออกสินค้า (ในรูปดอลลาร์ฯ) มีสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3/2563 เช่นกัน จากยอดการส่งออกที่กลับมามีมูลค่าสูงเกินกว่าระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์ฯ/เดือน ได้อีกครั้งในเดือน ส.ค. 2563