ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนพฤษภาคม (พ.ค.) 2566

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME 2566 เดือน พ.ค. ชะลอตัว ผปก.กังวลต้นทุนเพิ่มขึ้น

อัปเดตล่าสุด 27 มิ.ย. 2566
  • Share :
  • 26,571 Reads   

สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนพฤษภาคม 2566 ชะลอตัวลงหลังจากปรับตัวพุ่งสูงขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และผลจากสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลด้านต้นทุน

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 53.0 ลดลงจากระดับ 55.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงในทุกองค์ประกอบ ผลจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงหลังจากที่พุ่งสูงขึ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนก่อน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวและโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 ที่จบลงไป นอกจากนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีความกังวลด้านต้นทุน แม้แนวโน้มเงินเฟ้อจะปรับลดลงแล้วก็ตาม แต่ระดับของค่าใช้จ่ายยังคงสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าในกลุ่มอาหารสดและผัก อย่างไรก็ตามค่าดัชนี SMESI ยังสูงกว่าค่าฐาน สะท้อนว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ

ทั้งนี้ องค์ประกอบความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ โดยดัชนีด้านกำไรปรับตัวลดลงมากที่สุด อยู่ที่ระดับ 57.1 จากระดับ 61.4 รองลงมา ด้านคำสั่งซื้อโดยรวม อยู่ที่ระดับ 63.9 จากระดับ 67.0 และปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ การลงทุนโดยรวม ต้นทุนโดยรวม และการจ้างงาน ความเชื่อมั่นลดลงอยู่ที่ระดับ 57.3 52.1 37.4 และ 50.0 ตามลำดับ จากระดับ 59.6 54.3 39.1 และ 50.5 ตามลำดับ โดยเกือบทุกองค์ประกอบ

ค่าดัชนีฯ อยู่สูงกว่าค่าฐานที่ 50 ค่อนข้างมาก แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในแต่ละองค์ประกอบในระดับที่ดีอยู่ จะมีเพียงด้านต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า 

เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคธุรกิจสำคัญปรับตัวลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะกับภาคการค้าและภาคการบริการ ในสาขาที่ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยว ภาคการค้า มีค่าดัชนี SMESI ลดลงสูงสุดอยู่ที่ 50.1 จาก 54.0 เหตุเพราะกำลังซื้อลดลง การสิ้นสุดเทศกาลซึ่งส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยและการเดินทาง รองลงมา คือ ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 56.2 จากระดับ 58.4 ผลจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับตัวลดลงในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบทางลบจากราคาต้นทุนที่สูงขึ้น แต่กลุ่มบริการอื่น ๆ ยังมีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง เช่น การก่อสร้าง หรือกลุ่มบริการกีฬา และภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 51.9 จากระดับ 52.9 ชะลอตัวลง โดยเฉพาะกับกลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เผชิญกับราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ในกลุ่มเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ 

ส่วนภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 51.1 จากระดับ 51.6 ชะลอตัวลงในกลุ่มของการค้าขายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรมียอดขายที่ลดลง 

สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า ทุกภูมิภาคค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ยังคงมีระดับความเชื่อมั่นสูงกว่าค่าฐานที่ 50 โดยเฉพาะภูมิภาคท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภาคตะวันออกและภาคใต้ จากการสิ้นสุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยภูมิภาคที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุด ได้แก่ 

ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 50.4 จากระดับ 54.7 ชะลอตัวลงจากภาคการท่องเที่ยวและภาคการค้า นอกจากนี้สาขาธุรกิจที่พึ่งพาการก่อสร้างชะลอตัวลงเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวชะลอการปรับปรุงร้านค้า

รองลงมาคือ ภาคใต้ ปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 56.3 จากระดับ 59.4 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูมรสุมของภาคใต้ฝั่งอันดามัน ส่งผลให้ความต้องการท่องเที่ยวและการเดินทางในภาคใต้ลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระทบโดยตรงกับภาคบริการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบการนำเที่ยวทางทะเล ในขณะที่ภาคธุรกิจการเกษตรยังขยายตัวเนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด

ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 54.2 จากระดับ 56.7 เป็นการชะลอตัวลงจากภาคบริการเป็นหลัก รวมถึงการผลิตและบริการกลุ่มอาหาร

อย่างไรก็ตามภาคการผลิตอื่น ๆ ขยายตัวดีขึ้นจากการทยอยขายสินค้าที่มีการผลิตสะสมไว้ในช่วงก่อนหน้า เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 52.2 จากระดับ 54.6 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงตามการสิ้นสุดของเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงการเข้าสู่ช่วงปิดภาคเรียนของหลายมหาวิทยาลัย ส่งผลกระทบให้กำลังซื้อในพื้นที่ปรับลดลง โดยเฉพาะภาคการค้าทั้งค้าปลีกและค้าส่ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 52.2 จากระดับ 53.3 โดยเฉพาะภาคการค้าและภาคการบริการมีกำลังซื้อลดลง เนื่องจากก่อนหน้ามีการขยายตัวของกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากกลุ่มแรงงานที่กลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาล ทำให้ปัจจุบันยอดขายปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจการเกษตรและบางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น เช่น การซ่อมบำรุงยานพาหนะขยายตัวขึ้นจากการเข้าสู่ช่วงการทำนาปี และภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 52.8 จากระดับ 53.3 ภาคธุรกิจชะลอตัวลงจากการท่องเที่ยวและภาคการค้า เนื่องจากก่อนหน้ามีการขยายตัวของยอดขายพุ่งสูงขึ้นในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะร้านค้าริมทางที่ได้อานิสงส์จากการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทำให้ปัจจุบันยอดขายปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเกษตรในพื้นที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปี

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ทรงตัวในระดับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 52.3 จาก 52.5 แต่ยังคงอยู่ในช่วงของความเชื่อมั่น โดยมีความกังวลต่อต้นทุนเป็นสำคัญ รวมถึงแนวโน้มค่าแรงที่อาจสูงขึ้นในอนาคต

 

#ดัชนี SME #ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME #รายงานสถานการณ์ SME ส สว #ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจ #ดัชนีคำสั่งซื้อ SME #ดัชนีการผลิต SME #ดัชนีการค้า SME #ดัชนีการบริการ SME #ดัชนีการลงทุน SME #ดัชนีกำไร SME #ดัชนีการจ้างงาน SME

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH