ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2566 กันยายน

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.ย. 66 เพิ่มต่อเนื่องเดือนที่ 16

อัปเดตล่าสุด 10 ต.ค. 2566
  • Share :
  • 4,427 Reads   

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) ประจำเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ระดับ 56.2 เพิ่มขึ้น 0.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของรัฐบาล

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25-29 กันยายน 2566 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 56.2 เพิ่มขึ้น 0.2 จากเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.0 ค่าดัชนีฯ ยังคงทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง และอยู่ในระดับสูงที่สุดรอบ 69 เดือน นับตั้งแต่เริ่มทำสำรวจ ซึ่งได้รับปัจจัยด้านบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การปรับลดราคาพลังงาน, ภาคการส่งออกกลับมาขยายตัวดีขึ้น, การฟิ้นตัวต่อเนื่องของธุรกิจท่องเที่ยว, การยกเลิกวีซ่าให้กับประเทศจีน และค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย เป็นต้น

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • กนง. มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 66 เหลือ 2.8% จากเดิม 3.6% ก่อนจะพุ่งเป็น 4.4% ในปี 67
  • ความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายให้เห็นเป็นรูปธรรม
  • ปัญหาน้ำท่วมไหลหลากที่สร้างความเสียหายในบางพื้นที่ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
  • ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวอยู่ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน สหรัฐ และยุโรป
  • เศรษฐกิจของจีนที่เผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าดัชนียอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนเติบโตในอัตราที่ช้าลง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย
  • SET Index เดือน ก.ย. 66 ปรับตัวลดลง 94.51 จุด จาก 1,565.94 ณ สิ้นเดือน ส.ค. 66 เป็น 1,471.43 ณ สิ้นเดือน ก.ย. 66
  • ความกังวลต่อมาตรการของภาครัฐที่จะกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจโดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ยังไม่มีความชัดเจน
  • ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตร และเพื่อการอุปโภค-บริโภค

ปัจจัยด้านบวก

  • นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ทำให้เห็นภาพการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนออกมา โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.99 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง รวมถึงลดราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร
  • การส่งออกของไทยเดือน ส.ค. 66 ขยายตัวร้อยละ 2.6 มูลค่าอยู่ที่ 24,279.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 12.8 มีมูลค่าอยู่ที่ 23,919.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 359.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • การยกเลิกวีซ่าให้กับประเทศจีน คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวของประเทศจีน (วันชาติ)
  • ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นสามารถขยายการลงทุนและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยว
  • ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวลดลงโดยปรับตัวลดลงประมาณ 0.6 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ปรับตัวลดลงประมาณ 2.0 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือน ก.ย. 66
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 35.047 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 66 เป็น 35.8465 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 66 สะท้อนว่ามีการไหลเข้าสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • ดูแลเสถียรภาพทางด้านการเงินซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รักษาอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางที่เหมาะสม และปล่อยสินเชื่อกับผู้ประกอบการมากขึ้น
  • การดูแลบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และมีการจัดสรรน้ำให้เหมาะสมอย่างยั่งยืน รวมถึงเร่งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในบางพื้นที่
  • สนับสนุนสินค้าของไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาด
  • สร้างแนวทางตลาดส่งออกใหม่ของประเทศไทย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ
  • สร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างชาติเพื่อดึงเม็ดเงินเข้ามาในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #เศรษฐกิจไทย #เศรษฐกิจโลก #ภาคอุตสาหกรรม #ภาคการเกษตร #ภาคการท่องเที่ยว #ภาคการส่งออก #SET Index #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH