‘อาเซียน’ ถกเข้ม เร่งรัดการให้สัตยาบัน RCEP ของสมาชิกที่เหลือ เตรียมสรุปผลสำเร็จเสนอผู้นำ พ.ย.นี้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งสุดท้ายในปีนี้ เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ เตรียมการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เร่งรัดการให้สัตยาบันความตกลง RCEP ของสมาชิกที่เหลือภายในปีนี้ มุ่งอัปเกรดความตกลงให้ทันสมัยหวังเปิดตลาดเพิ่มเติม พร้อมสรุปผลสำเร็จต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน พ.ย.นี้
วันที่ 19 กันยายน 2565 ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister: AEM) ครั้งที่ 54 ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน ที่ผ่านมา ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายของปีนี้ เพื่อสรุปผลสำเร็จรายงานต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ในเดือนพฤศจิกายนนี้
ดร.สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติในประเด็นสำคัญเพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาค และการเตรียมการอาเซียนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ แผนการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน ซึ่งมีการขยายระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ให้ครอบคลุมกิจกรรม ณ ท่าเรือระหว่างประเทศ และจุดผ่านแดน การเร่งรัดการให้สัตยาบันความตกลง RCEP ของสมาชิกที่เหลือ ภายในปีนี้ เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากความตกลงได้อย่างเต็มที่ การเร่งเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีของอาเซียนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับรูปแบบการค้ายุคใหม่ ได้แก่ ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA) ความตกลง FTA อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และอาเซียน-จีน และการเจรจาจัดทำความตกลง FTA กับคู่เจรจาใหม่ อาทิ อาเซียน-แคนาดา (ACAFTA) ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย ทั้งการขยายตลาดและอำนวยความสะดวกทางการค้าเพิ่มขึ้น
- ‘เกาหลีใต้’ คิกออฟ RCEP 1 ก.พ. ตามด้วย ‘มาเลเซีย’ 18 มี.ค. 65 นี้ สินค้าไทยยกเว้นภาษีทันทีกว่า 14,000 รายการ
- บทวิเคราะห์ RCEP ข้อดี ข้อเสีย
- ภาพรวมส่งออกไทยใช้สิทธิ FTA ปี'64 พุ่ง 31% ทะลุ 7.6 หมื่นล้านเหรียญ สูงสุดในรอบ 6 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เร่งดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอาเซียน และเร่งสรุปองค์ประกอบสำคัญ (Core Elements) ของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ภายหลังปี 2568 พร้อมกับรายงานผลการประเมินความพร้อมการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต ในส่วนของเสาเศรษฐกิจ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียนในเดือน พ.ย.นี้
ดร.สรรเสริญ เพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้พบหารือกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่อพิจารณาแนวทางความร่วมมือระยะยาว โดยจะร่วมมือกันด้านการใช้ประโยชน์ของระบบทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์และนวัตกรรมให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) และสตาร์ทอัพ สำหรับการพบหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ได้แลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญและดำเนินการในปีนี้ อาทิ Digital Trade Connect โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงการค้าดิจิทัลระดับภูมิภาคเพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งจะสนับสนุนเป้าหมายของอาเซียนในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยเห็นพ้องถึงความสำคัญและร่วมเน้นย้ำเจตนารมณ์ที่จะทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนรักษาโอกาสและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในตลาดโลกได้ในอนาคต
ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้ร่วมรับรองและให้ความเห็นชอบเอกสารสำคัญ อาทิ แผนดำเนินงานตามกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี ค.ศ. 2023-2030 ซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตงานและกิจกรรมความร่วมมือภายใต้กรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน เอกสารขอบเขตการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย ซึ่งเป็นการยกระดับความตกลงที่มีอยู่ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับรูปแบบการค้าในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังให้มีการเปิดตลาดเพิ่มเติม ปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับสถานการณ์
การค้าและเอื้อต่อการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น และเอกสารเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ อาทิ กลุ่มประเทศบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญในการช่วยกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมประกาศการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยการแข่งขันของอาเซียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นธรรมและการแข่งขันในตลาดอาเซียน และเห็นชอบรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันในการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่เสนอให้มีการเปิดเสรีมากขึ้น และสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การแข่งขันทางการค้า การคุ้มครองผู้บริโภค และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย
ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 2565) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 75,628 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 43,699 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18.7% และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 31,928 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20% ตลาดที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH