apec ประเทศไทยได้อะไรบ้าง, เศรษฐกิจไทย, คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.), Investment, FDI, APEC Summit 2022, APEC, APEC Thailand 2022

APEC 2022 : ประเทศไทยได้อะไร ?

อัปเดตล่าสุด 21 ธ.ค. 2565
  • Share :

ประชุม APEC 2022 กกร. คาดไทยรับอานิสงส์ดึงดูดต่างชาติลงทุน FDI 5 - 6 แสนล้าน ภายใน 3 - 5 ปี

วันที่ 21 ธันวาคม 2565 ในการแถลงข่าวของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกร., นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วม เปิดเผยผลสรุป "ภาพรวมการจัดงาน APEC 2022 : ประเทศไทยได้อะไรจากการประชุม" ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ Open. Connect. Balance. โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น 

ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งประกอบด้วยผู้นำและผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิก เห็นพ้องกับการที่ไทยได้นำเสนอแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 อย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม พร้อมรับมือความท้าทายในอนาคตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ ได้มีกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศร่วมนำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และมีผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคและแขกพิเศษ ได้แก่ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีฝรั่งเศส ร่วมหารือกับผู้นำฯ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของภาคเอกชนและคู่ค้าสำคัญนอกภูมิภาคเอเปคด้วย 

จากการประชุมครั้งนี้ ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสะท้อนผลสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2565 ของไทยที่ขับเคลื่อนให้เอเปคสามารถเดินหน้าทำงานท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายในปัจจุบันและคงความสำคัญในการเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาค โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 3 ข้อตามที่ไทยตั้งเป้า ได้แก่ 

(1)  การผลักดันให้เอเปคทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกในบริบทหลังโควิด-19 โดยมีแผนงานการขับเคลื่อนการหารือที่ต่อเนื่องระหว่างปี ค.ศ.2023-2026 เพื่อให้เอเปคสามารถเดินหน้าได้อย่างชัดเจน 
(2)  การฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกปลอดภัย โดยคณะทำงานเฉพาะกิจที่ไทยเป็นประธานได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้เอเปคมีกลไกและแนวทางการรับมือกับความท้าทายในอนาคต และ 
(3)  การรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” ซึ่งเป็นเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนฉบับแรกของเอเปค โดยเน้นเป้าหมายหลัก 4 ข้อ ได้แก่ การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืน และการลดและจัดการของเสียอย่างยั่งยืน โดยได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.bangkokgoals.apec.org รวบรวมแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อริเริ่มของสมาชิกเอเปคให้เป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้สนใจสืบค้น ศึกษา และประยุกต์ใช้ต่อไป 

ในการนี้ ไทยได้ส่งต่อการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2556 ให้แก่สหรัฐฯ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบ “ชะลอม” ให้แก่นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งชะลอมเป็นภาพแทนสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย เพื่อส่งต่อให้สหรัฐฯ สานต่อภารกิจในปีหน้า โดยเฉพาะประเด็นความยั่งยืนที่สะท้อนอยู่ในเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG 

2.  ผลการประชุม APEC CEO Summit 2022

APEC CEO Summit 2022 เป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ภายใต้แนวทาง “Embrace Engage Enable” ในการประชุมเสวนาครั้งนี้ได้บทสรุปสอดคล้องกับที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 กล่าวคือผู้นำภาครัฐและภาคธุรกิจที่เข้าร่วม ต่างเห็นพ้องกันว่าสมาชิกเอเปคจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก  

ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาเปิดการประชุม โดยมีใจความสำคัญว่าภาคเอกชนมีบทบาทอย่างยิ่งในการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) โดยไทยมีนโยบายมุ่งไปสู่การเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่จะช่วยสร้างอาชีพและการเจริญเติบโตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในมิติใหม่ เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาคฯ และส่งเสริมบรรยากาศการดำเนินธุรกิจที่ส่งเสริมให้ MSMEs และสตรีมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจ รวมถึงเสริมสร้างความเท่าเทียมทาง gender อย่างแท้จริง  

ประเด็นของการประชุม สรุปได้ 3 ข้อ ได้แก่ การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) การเติบโตอย่างครอบคลุม (Inclusive Growth) และความเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาค (Regional Partnership) 

ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาด้านสาธารณสุขและสุขภาพ ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและการขาดแคลนน้ำ ผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและการแพร่ระบาดจากโควิด-19 ล้วนเชื่อมโยงกัน และมีความจำเป็นที่ผู้กำหนดนโยบายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต้องร่วมระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหา ด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ (Engagement and Partnership) รวมถึงส่งเสริมกลไกพหุภาคี (Multilateralism) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นพ้องว่าผู้นำฯ และภาคเอกชนควรออกแบบนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ลดการปล่อยมลพิษและคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ในอนาคต ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสีเขียว รวมถึงให้ความสำคัญกับแนวทาง ESG (Environment, Social and Corporate หรือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เช่น AI, Internet of Things, Machine Learning, Quantum Computing และ 5G ทั้งนี้ ยังเห็นว่าการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เช่น ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในโลกไซเบอร์ เป็นภารกิจที่ท้าทายของภาครัฐ

ด้านการเติบโตอย่างครอบคลุม (Inclusive Growth) ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยคำนึงถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชน ความเท่าเทียมทาง gender รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันส่งเสริมการค้าเสรี มีกฎระเบียบทางการค้าฯ โครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ MSMES ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เน้นการพัฒนาทักษะแรงงาน โดยเฉพาะทักษะทางดิจิทัลเพื่อให้ MSMEs สามารถปรับตัวและเข้าถึงโอกาสจาก e-commerce รวมไปถึงการเน้นดูแลกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19 คือกลุ่มสตรี  ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก ผู้ที่อยู่ในเขตชนบท รวมไปถึงชนพื้นเมืองดั้งเดิม โดยการพัฒนาความสามารถทางเศรษฐกิจให้กลุ่มคนเหล่านี้จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความยากจน และสร้างการพัฒนาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ภาคธุรกิจควรร่วมกันหาแนวทางลดปัญหาค่าแรงที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชาย-หญิง รวมถึงความไม่เท่าเทียมด้านตำแหน่งงานระดับสูง 

ด้านความเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาค (Regional Partnership) ที่ประชุมเห็นพ้องเรื่องการเคารพกฎระเบียบระหว่างประเทศ (International Rules) และสนับสนุนกลไกพหุภาคี (Multilateralism) เพื่อส่งเสริมสันติภาพและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ลดโอกาสการเกิดวิกฤตที่เป็นผลกระทบสืบเนื่องจากความขัดแย้งในอนาคต รวมถึงแก้ปัญหาความถดถอยทางเศรษฐกิจปี 2023-2024 (Economic Recession) โดยเน้นสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งทั้งในและนอกภูมิภาค นอกจากนี้ ยังเห็นว่ารัฐบาลกำลังเผชิญความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เอเปคมีแหล่งพลังงานที่มั่นคง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องร่วมมือกันลดคาร์บอนไดออกไซด์โดยไม่กลายเป็นการแข่งขัน

3.  ประโยชน์ต่อประเทศไทยจากการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 และการประชุม APEC CEO Summit 2022

คาดว่าการเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้จะส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในช่วง 3-5 ปีข้างหน้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ดังนี้

ประโยชน์ระยะสั้น (ภายใน 3-6 เดือน) ส่งเสริมภาพลักษณ์ Soft Power และความเข้าใจต่อไทยผ่านการประชาสัมพันธ์ อาหาร และวัฒนธรรมไทยที่ได้นำเสนอผ่านการประชุมและงานเลี้ยงรับรองต่าง ๆ ซึ่งสร้างประโยชน์สำคัญ 2 ประการคือ (1) ส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น 1-2 แสนคน จากอิทธิพลของสื่อต่าง ๆ เรื่องเอเปค โดยจะสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องของไทยถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และ (2) สร้างการรับรู้และช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ในอุตสาหกรรม BCG พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า EV เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC 

ประโยชน์ระยะยาว (ภายใน 3-5 ปี) คาดว่าจะสร้างการลงทุน FDI มูลค่าประมาณ 6 แสนล้านบาท ภายใน 3-5 ปี จากปัจจัยต่อไปนี้ 

1.  การค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างไทยกับจีน ทั้งนี้ ในห้วงการประชุมที่ผ่านมา ไทยและจีนเห็นพ้องกันในการเพิ่มมูลค่าและอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกันในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ไทย-จีนจะใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางราง รวมถึงการดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งคาดว่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 แสนล้านบาท

 2.  การค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอารเบียและกลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Corporation Council-GCC) 6 ประเทศ ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต การ์ตา โอมาน บาเรน และยูเออี โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย 12 สาขาในด้านพลังงาน ปิโตรเคมี เกษตร เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพและบริการ ในพื้นที่ EEC ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าโดยรวมประมาณ 1-3 แสนล้านบาท

3.  การลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานทดแทนที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 5 หมื่น - 1 แสนล้านบาท

4.  การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล E-commerce และ Robot ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 5 หมื่น - 1 แสนล้านบาท

5.  การลงทุนในธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว การบริการสุขภาพและความงาม และโลจิสติกส์ ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 5 หมื่น - 1 แสนล้านบาท

ภาคเอกชนเห็นว่า การจัดงาน APEC ในครั้งนี้ สร้างโอกาสและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ดังนั้น โอกาสในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเปิดแล้ว และเป็นโอกาสสำคัญกับหลาย ๆ Sector อาทิ ภาคการค้าและการลงทุน จะเกิดการจ้างงาน เกิดการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้กับคนไทย รวมถึงการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีขั้นสูง ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับอานิสงส์เช่นกัน เชื่อว่าในปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นกว่าปีนี้เป็นเท่าตัว และจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเพิ่มเติมอีกในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ภาคท่องเที่ยวและบริการของไทยฟื้นตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่น ดังนั้น อยู่ที่เราทุกคนว่าจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งโอกาสดังกล่าวนี้ ถือเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดไหน ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ทุกคนล้วนมีส่วนช่วยต่อยอดโอกาสนี้ ให้กลายเป็นความเข้มแข็งและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH