TCC Confidence Index ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.พ. 64 ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

อัปเดตล่าสุด 18 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 512 Reads   

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 (TCC Confidence Index) อยู่ที่ 29.6 ลดลง 0.2 จากเดือนที่แล้ว โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่

จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลง ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 29.6 หดตัวลง 0.2 จากเดือนมกราคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 29.8 เป็นผลจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่, ความกังวลเกี่ยวจากเสถียรภาพทางการเมือง, ตัวเลข GDP  ปี 2563 ที่หดตัวลง 6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปีนับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง และการที่ประเทศไทยยังคงมีการขาดดุลการค้า 202.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่ ที่มีการระบาดและมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ
  • สศค. เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2563 ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่งผลให้จีดีพี ปี 2563 หดตัวลง 6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปีตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง
  • ความกังวลเกี่ยวจากเสถียรภาพทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมือง
  • ประเทศไทยยังคงมีการขาดดุลการค้า 202.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.80 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.90 บาทต่อลิตร 
  • ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 30.006 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 64 เป็น 29.986 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 64 ซึ่งอาจจะมีผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก

ปัจจัยด้านบวก

  • ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโครงการ “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” “เราชนะ” และ“เรารักกัน” เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ
  • การเริ่มต้นการฉีดวัคซีนโควิดของรัฐบาลให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างชัดเจน รวมถึงการฉีดวัคซีนของทั้งโลก ทำให้สถานการณ์โควิดในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น
  • กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่แรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวได้
  • การส่งออกของไทยเดือน ม.ค. 64 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.35 มูลค่าอยู่ที่ 19,706.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 5.24 มีมูลค่าอยู่ที่ 19,908.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 
  • SET Index เดือน ก.พ. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.80 จุด จาก 1,466.98 ณ สิ้นเดือน ม.ค. 64 เป็น 1,496.78 ณ สิ้นเดือน ก.พ. 64

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • เร่งการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อให้สถานการณ์การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ทั้งภาคการค้า การส่งออก และการท่องเที่ยว
  • ส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน โดยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศให้มากขึ้น
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน และความเชื่อมั่นกับนักลงทุนพร้อมสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน
  • เร่งฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อลดการตกงาน

 

อ่านต่อ: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ม.ค. 64 ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2