341-ธุรกิจ-ผลกระทบ-โควิด-19-เสนอแนะ

“บิ๊กธุรกิจ” ระดมชงแผนออกจาก “ล็อกดาวน์” รีสตาร์ตธุรกิจ

อัปเดตล่าสุด 17 เม.ย. 2563
  • Share :

จากที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจเอกชน” ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) โดยประธานสภาธุรกิจ 8 แห่ง เพื่อร่วมให้คำปรึกษา เสนอแนะ ป้องกันและแก้ปัญหาของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 โดยรายชื่อนักธุรกิจที่เข้าไปเป็นคณะที่ปรึกษา มีทั้ง นายกลินท์ สารสิน , นายสุพันธุ์ มงคลสุธี , นายปรีดี ดาวฉาย , นายไพบูลย์ นลินทรางกูร , นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ , นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร และนายศุภชัย เจียรวนนท์ พร้อมด้วยภาครัฐอย่าง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นต้น

12 ข้อเสนอภาคเอกชน

ในการประชุมนัดแรกเมื่อ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษา สรุปว่า ที่ประชุมได้มีการหารือข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่สำคัญ 12 ข้อ ดังนี้ 1.ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ 2.เอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายสำหรับป้องกันโควิด-19 มาหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า 3.ขอให้รัฐออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม 4.ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ปีภาษี 2562-2563 กรณี SMEs ไม่เกิน 10%, ผู้ประกอบการอื่นไม่เกิน 20% 5.รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงานและซื้อสินค้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ, 6.ผ่อนปรนการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี 7.อนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 40-41 บาท 4-8 ชั่วโมงต่อวัน, 8.ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างเหลือ 1% 9.ช่วยเหลือค่าจ้างภาคเอกชน รัฐจ่าย 50% ของรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาท 10.บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านจ้างแรงงานช่วงโควิด-19 มาหักภาษี 3 เท่า 11.การผ่อนปรนมาตรการเคอร์ฟิวธุรกิจขนส่งสินค้าในเวลากลางคืน และ 12.การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองให้มีมาตรฐานเดียวกัน

ชูบิ๊กธุรกิจนำทีมฝ่าวิกฤต

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงาน 5 กลุ่มหลัก เพื่อพิจารณาข้อเสนอต่าง ๆ โดยให้ทีมที่ปรึกษาภาคเอกชนเป็นประธานแต่ละกลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานกลุ่ม 2.กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ หลัง “ล็อกดาวน์” มีนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานกลุ่ม 3.กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ประธานกลุ่ม 4.กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร มีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ 5.กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นประธานกลุ่ม

เสนอแผนออกจาก “ล็อกดาวน์”

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เบื้องต้นประเมินว่าจะมีตัวเลขคนตกงานประมาณ 7 ล้านคน และหากการแพร่ระบาดยังยืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือน จะทำให้มีคนตกงานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน ดังนั้น รัฐบาลควรจะต้องเร่งดำเนินมาตรการเยียวยาประชาชน และดูแลภาคธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง

รวมถึงต้องมีการเตรียมเพื่อนำไปสู่การเปิดให้ดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ซึ่งจำเป็นต้องวางแผน “recovery plan” ว่าจะมีธุรกิจประเภทใดบ้างที่สามารถกลับมาดำเนินการได้ หลังมาตรการล็อกดาวน์ 30 เม.ย. และต้องมีแผนป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อีกครั้ง โดยเบื้องต้นก็เสนอให้บางธุรกิจบางกิจการกลับมาเปิดกิจการใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ซึ่งต้องดูวิธีการว่าจะทำอย่างไร

ชงรัฐช่วยค่าจ้าง 50% แก้ปมเลิกจ้าง 10 ล้านคน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี กล่าวว่า เพื่อดูแลไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง 10 ล้านคน จึงเสนอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยค่าจ้างแรงงานให้ผู้ประกอบการ 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ 15,000 บาท หรือ 7,500 บาทต่อเดือน และผู้ประกอบการจ่าย 25% ขอให้นำไปหักภาษีได้ 3 เท่า ขณะที่ลูกจ้างต้องยอมลดค่าจ้าง 25%

“ถ้ารัฐช่วยจ่ายเงินเดือน ลูกจ้างจะไม่ถูกเลิกจ้างแน่นอน” นายสุพันธุ์กล่าว

ปลดล็อกเงื่อนไขเข้าถึง “ซอฟต์โลน”

สำหรับปัญหาที่ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลน เพราะธนาคารพาณิชย์ “ไม่กล้า” ปล่อยกู้ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) สำหรับเอสเอ็มอี ส่วนแรกจากธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้าน เนื่องจากมีผู้ต้องการขอสินเชื่อเป็นจำนวนมาก ทำให้การทำงานล่าช้าไปบ้าง ส่วนซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาท จาก ธปท. คาดว่า พ.ร.ก.จะออกมาในสัปดาห์หน้า ซึ่งคงต้องรอดูรายละเอียดเพื่อนำมาพิจารณาว่าจะช่วยทำให้ขั้นตอนเร็วขึ้นได้อย่างไร โดยระหว่างนี้ สมาคมแบงก์จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการเข้าถึงวงเงินซอฟต์โลน รวมถึงต้องหารือถึงกฎเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อสำหรับคนที่มีหลักประกัน หรือคนที่มีความสามารถชำระคืนในอนาคตที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อลดปัญหาและทำให้ลูกค้าเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้เร็วขึ้น

ชูดิจิทัลธงนำฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

ขณะที่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวว่า ข้อเสนอของสภาดิจิทัลฯจะโฟกัสเรื่องการจ้างงาน และการสร้างงานธุรกิจใหม่ ทั้งสตาร์ตอัพที่เป็นอีคอมเมิร์ซ หรือการเรียนการสอนที่จะเข้าถึงคอนเทนต์ รวมถึงการสร้างทักษะใหม่ ๆ ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยดิจิทัลที่ถือเป็นโซลูชั่นใหม่ โดยต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่าย ราคาประหยัด ซึ่งจะเป็นการสร้างพื้นฐานเข้าสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคใหม่ รวมถึงการเชื่อมโยงของตลาดก็จะมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น

นอกจากนี้ นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า องค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินว่า อัตราการค้าโลกปีนี้จะติดลบ 30% อาจจะรุนแรงเทียบกับการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 1932 ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกนั้น เอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากกว่า โดยทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯได้เสนอขอให้ภาครัฐพิจารณาแก้ไขกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกและให้เกิดการใช้ระบบ national trading platform เพื่อรองรับให้เกิดการใช้จริง

ชงเลื่อน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ขณะที่ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ทางสภาได้เสนอให้พิจารณาเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกไป จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะจบลง จากเดิมที่จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 27 พ.ค.นี้ เนื่องจากการปรับระบบอาจจะไม่ทัน นอกจากนี้ หากรัฐจะพัฒนาแอปพลิเคชั่นติดตามตัว เพื่อป้องกันการระบาดรอบ 2 กฎหมายตัวนี้จะทำให้ทำงานยาก

เนื่องจากในมาตรการเตรียมให้ธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการใหม่ ต้องมีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ซึ่งที่ประชุมมีข้อเสนอให้ยึดแนวทางในต่างประเทศ ที่มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นติดตามตัวที่สามารถเก็บข้อมูลย้อนหลัง 14 วัน เหมือนกับประเทศจีน เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการกลับไปเปิดระบบเศรษฐกิจ หลังไวรัสคลี่คลาย จากนั้นต้องพิจารณาว่า เศรษฐกิจส่วนใดควรจะเปิดก่อน/หลัง เช่น ธุรกิจจับจ่ายใช้สอย หรือห้างสรรพสินค้า อาจเปิดได้ก่อน แต่ก็ต้องมาพร้อมมาตรการป้องกัน ส่วนธุรกิจที่มีความเสี่ยง เช่น ธุรกิจบันเทิงต่าง ๆ ก็อาจจะเปิดช้ากว่า เป็นต้น ส่วนธุรกิจท่องเที่ยว รัฐอาจจะต้องดูแลธุรกิจนี้ในระยะยาวมากกว่าธุรกิจอื่น

ทั้งนี้ คณะทำงานทั้ง 5 ชุดจะพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด และประชุมหาข้อสรุปในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

 

อ่านต่อ: