ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ต.ค. 63 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนตุลาคม 2563 (TCC Confidence Index) อยู่ที่ 33.2 เพิ่มขึ้น 0.7 จากเดือนที่แล้ว ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 364 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 26-30 ตุลาคม 2563 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังอยู่ในทิศทางดีขึ้น ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 33.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7 จากเดือนกันยายน 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 32.5 ผลจากการที่ กนง. ปรับ GDP ปี 63 ใหม่ โดยคาดว่าจะติดลบ 7.7% และผลจากมาตรการดูแลและเยียวยาโดยภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบอยู่พอสมควร ทั้งความกังวลในการระบาดระลอกที่ 2 และสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญ รวมถึงกรณีสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทยเพิ่มเติม กอปรกับหลายตัวเลขในเดือน ต.ค. 63 พบว่า ภาวะการส่งออกและนำเข้าลดลง SET Index ปิดตลาดต่ำกว่า 1,200 จุด และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย
ปัจจัยด้านลบ
- สถานการณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน และประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจส่งผลประเทศไทยจะต้องเผชิญกับ
ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา - ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ความกังวลจากการที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทยเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
- การส่งออกของไทยเดือน ก.ย. 63 ลดลงร้อยละ 3.86 มูลค่าอยู่ที่ 19,621.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 9.08 มีมูลค่าอยู่ที่ 17,391.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- SET Index เดือน ต.ค. 63 ปรับตัวลงลด 42.09 จุด จาก 1,237.40 ณ สิ้นเดือน ก.ย. 63 เป็น 1,194.95 ณ สิ้นเดือน ต.ค. 63
- ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 31.367 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 63 เป็น 31.269 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 63 ซึ่งสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลเข้าประเทศไทย และผลจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่อาจจะกลับมาจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ปัจจัยด้านบวก
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ใหม่ โดยคาดว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะติดลบ 7.7% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 8.5% มาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการเริ่มเปิดประเทศส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีเพิ่มมากขึ้น
- รัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ประกอบไปด้วย โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โครงการ “คนละครึ่ง” และมาตรการ “ช้อปดีมีคืน”
- ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมาโดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) อยู่ที่ระดับ 20.88 และ 21.15 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือน ต.ค. 63 ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา
- มาตรการช่วยเหลือธุรกิจส่งออกโดยการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน พร้อมลงทุนในสิ่งใหม่ ๆ ให้มีความต่อเนื่อง
- รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสินค้าไทย นอกจากนี้ผลักดันการส่งออกไปตลาดอื่น โดยเฉพาะตลาดจีนเพราะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และเศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวหลังจากโควิด 19
- มาตรการกระตุ้นกำลังการซื้อของประชาชนในประเทศให้เข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากหยุดนิ่งไปจากสถานการณ์โควิด 19
- จัดสวัสดิการและมาตรการช่วยเหลือให้กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น มีการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา สาธารณสุขให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น
อ่านต่อ: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.ย. 63 ขยับขึ้น 4 เดือนติดต่อกัน