ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2566 สิงหาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ส.ค. 66 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 15 เดือน

อัปเดตล่าสุด 14 ก.ย. 2566
  • Share :
  • 34,119 Reads   

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 56.0 เพิ่มขึ้น 0.4 จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 15 เดือนติด ยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และความชัดเจนทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสำคัญอย่าง สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบต่อการส่งออกของไทย รวมถึง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเริ่มลดลง

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25-31 สิงหาคม 2566 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 56.0 เพิ่มขึ้น 0.4 จากเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.6 ค่าดัชนีฯ เดินหน้าทำสถิติใหม่ ในระดับสูงที่สุดรอบ 68 เดือน นับตั้งแต่เริ่มทำสำรวจ โดยได้รับปัจจัยด้านบวกจากความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมือง , ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง สามารถขยายการลงทุน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น , การทรงตัวของราคาน้ำมันในเดือนที่ผ่านมา และค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยด้านลบจาก GDP ไตรมาส 2 ที่ชะลอลงจากไตรมาสแรก, ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว , จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเริ่มลดลง , ภาคการส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่อง และต้นทุนการผลิตยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน เป็นต้น

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง
  • สศช. เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาส 2 ปี 2566 ขยายตัว 1.8% ชะลอจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.6%
  • ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวอยู่ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน สหรัฐ และยุโรป
  • เศรษฐกิจของจีนที่เผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าดัชนียอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนเติบโตในอัตราที่ช้าลง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย
  • จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเริ่มชะลอลง จากข่าวสารภาพลักษณ์ของความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
  • ราคาพลังงาน และเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในระดับสูง
  • ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตร และเพื่อการอุปโภค-บริโภค
  • การส่งออกของไทยเดือน ก.ค. 66 หดตัวร้อยละ 6.2 มูลค่าอยู่ที่ 22,143.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าลดลงร้อยละ 11.1 มีมูลค่าอยู่ที่ 24,120.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,977.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น จากการจะเปิดรับนักท่องเที่ยวสูงขึ้นในช่วงไฮซีซั่น
  • ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.70 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือน ส.ค. 66

ปัจจัยด้านบวก

  • สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจนขึ้น หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะหนุนต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยเป็นสำคัญ
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้นหลังจากการเปิดประเทศส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และในช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น
  • SET Index เดือน ส.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.88 จุด จาก 1,556.06 ณ สิ้นเดือน ก.ค. 66 เป็น 1,565.94 ณ สิ้นเดือน ส.ค. 66
  • ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นสามารถขยายการลงทุน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยว
  • ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 34.627 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 66 เป็น 35.047 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 66 สะท้อนว่ามีการไหลเข้าสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • ความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองในการดำเนินงานตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้ เพื่อฟื้นฟูดูแลเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ
  • การส่งเสริมการลงทุนที่สนับสนุนการลงทุนสามารถสร้างโอกาสใหม่ และเปิดโอกาสในการสร้างงานและการเพิ่มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  • การบริหารจัดการทรัพยากรให้เพียงพอต่อความต้องการในสถานการณ์ที่สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
  • การดูแลราคาน้ำมันและพลังงานภายในประเทศ เนื่องจากเป็นต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจและการใช้ชีวิต
  • การดูแลเรื่องต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องของอัตราดอกเบี้ย

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #โควิด-19 #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ผลกระทบธุรกิจจากโควิด-19 #บรรเทาผลกระทบโควิด #เยียวยาโควิด #มาตรการควบคุมการระบาด #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH