สถานการณ์ GDP SME เอสเอ็มอี 2566

สสว. คาดการณ์ GDP SME ปี 2566 โต 4.9%

อัปเดตล่าสุด 19 ธ.ค. 2565
  • Share :
  • 8,524 Reads   

สสว. สรุปสถานการณ์ SME ปี 2565 เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติ COVID-19 คาดสามารถสร้างมูลค่า SME GDP ขยายตัวอยู่ที่ 6.02 ล้านล้านบาท ผลจากการส่งออก (รอบ 10 เดือน) มีมูลค่าถึง 1.09 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.3 คาดการณ์ปี 2566 GDP SME ขยายตัว 4.9% ปัจจัยบวกมาจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะปรกติ การลงทุนภาครัฐ/ภาคเอกชน รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

วันที่ 19 ธันวาคม 2565 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวภายในงาน SME Symposium หัวข้อ “เปิดลายแทง SME ปีกระต่าย วิกฤติโลก วิกฤติไทย โอกาสใหม่ SME” ซึ่งจัดโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2566 ที่จะถึงนี้ แม้สถานการณ์ Covid 19 จะผ่อนคลายลง แต่ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงการเปลี่ยนผ่านซึ่งมีความผันผวนเปรียบเสมือนมรสุมที่กำลังก่อตัว ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นมาต่อเนื่องและเริ่มคงตัวในระดับสูง ส่งผลต่อราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น กำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง การแข่งขันทางการค้าทวีความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการกีดกันโดยตรงและผ่านมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ระบบการเงินที่มีความผันผวนของค่าเงินทั่วโลก และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ

ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจากการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2566 โดย IMF ก็ปรับลดการประมาณการณ์ลงต่ำกว่าปี 2565 จากร้อยละ 3.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 รวมถึงกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักของ SME ไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อาเซียน ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งจีนซึ่งเป็นตลาดหลักทั้งด้านการค้าและนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนไทยก็ยังต้องเฝ้าจับตานโยบายที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แม้การส่งออกของไทยในช่วงปี 2565 จะเติบโต แต่ครึ่งปีหลังมีทิศทางชะลอตัวและหดตัวซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเหล่านั้น ดังนั้นผู้ประกอบต้องป้องกันความเสี่ยงให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง บริหารต้นทุนการเงิน เตรียมรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการ SME ต้องให้ความสนใจ และ ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ที่สำคัญต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการย้ายฐานการผลิตเข้ามาสู่อาเซียนเพิ่มขึ้น การพัฒนาทางเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพธุรกิจ การพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการและแรงงานให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจในอนาคต การใช้เทคโนโลยี/พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว ซึ่งหากผู้ประกอบการปรับตัวได้ก่อน ย่อมจะมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

ด้าน นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า SME ในระบบฐานข้อมูลของ สสว. มีจำนวน 3.178 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.57 ของจำนวนวิสาหกิจรวมทั้งหมด เกิดการจ้างงานกว่า 12.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71.86 ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ และจากการศึกษาวิเคราะห์เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ SME ในรอบปี 2565 ข้อมูล 9 เดือนแรกของปี (เดือนมกราคม-กันยายน) พบว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (GDP SME) มีมูลค่ารวม 4.54 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 5.1 คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 35.2 ของ GDP รวมของประเทศ

ในด้านการค้าระหว่างประเทศของ SME ยังคงอยู่ในภาวะขาดดุล โดยการส่งออกของ SME มีมูลค่ารวม 31,869 ล้าน USD (1.09 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 20.3 สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารและเกษตรแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตร เป็นต้น ประเทศคู่ค้าหลักของ SME ไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศอาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ฯลฯ ด้านการนำเข้า มีมูลค่า 33,312.7 ล้าน USD (1.15 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 14.2% สินค้านำเข้าสำคัญส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบด้านราคาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ส่วนการจัดตั้งและยกเลิกกิจการในรอบ 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่า SME มีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่จำนวน 66,707 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 กิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ฯลฯ ส่วนการยกเลิกกิจการ มีจำนวน 13,412 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.1 กิจการที่ยกเลิกสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ฯลฯ

“จากการประเมินสถานการณ์ของ สสว. พบว่า ภาวะเศรษฐกิจของ SME ในปี 2565 ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น เห็นได้ จากการขยายตัวของยอดการผลิตสินค้าต่าง ๆ เช่น รถยนต์นั่ง พาหนะเพื่อการพาณิชย์ ซีเมนต์ผสม ฯลฯ คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2565 เศรษฐกิจของ SME (GDP SME) จะขยายตัวร้อยละ 4.9 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ผลจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น ราคาพืชผลการเกษตร การส่งออก ต้นทุนด้านพลังงาน รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ผอ.สสว. กล่าว

สำหรับคาดการณ์แนวโน้มปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจประเทศ (GDP) จะมีการขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 ถึง ร้อยละ 4.8 ขณะที่การขยายตัวของ SME (GDP SME) จะอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ถึงร้อยละ 5.8 ผลจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ขยายตัวดีขึ้นเกือบทุกด้าน โดยการบริโภคภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เนื่องจากประชาชนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายตัวของการจ้างงาน แม้ว่าสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อ GDP จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลปรับตัวลดลงเล็กน้อยเท่ากับร้อยละ 0.6 ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 เช่นเดียวกับการเติบโตของการลงทุนของรัฐบาล ที่จะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2.5 จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าและบริการจะยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะด้านบริการการท่องเที่ยวของประเทศจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จึงคาดว่าการมูลค่าส่งออกสินค้าและบริการโดยรวม จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH