ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ส.ค. 63 ขยับขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2563 (TCC CONFIDENCE INDEX) อยู่ที่ 32.3 เพิ่มขึ้น 0.5 จากเดือนที่แล้ว ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 364 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคม 2563 พบว่า ภายหลัง กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี และรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดกิจการได้ และภาครัฐยังคงดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวลดลง
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย
ปัจจัยด้านลบ
- สศช. เผยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 2/63 หดตัว 12.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุมาจากภาคการส่งออกและบริการ รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง จากผลกระทบของโควิด-19
- ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน ที่อาจส่งผลประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา
- รัฐบาลขยายระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
- การส่งออกของไทยเดือน ก.ค. 63 ลดลงร้อยละ 11.37 มูลค่าอยู่ที่ 18,819.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 26.38 มีมูลค่าอยู่ที่ 15,476.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- ค่า SET Index เดือน ส.ค. 63 ปรับตัวลงลด 17.87 จุด จาก 1,328.53 ณ สิ้นเดือน ก.ค. 63 เป็น 1,310.66 ณ สิ้นเดือน ส.ค. 63
- ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 31.417 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 63 เป็น 31.217 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 63 ซึ่งสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลเข้าประเทศไทย
ปัจจัยด้านบวก
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี
- รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 หลังจากที่ได้มีการผ่อนปรนตั้งแต่ระยะที่ 1-4 มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ ที่ปิดไปสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ปกติและประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ
- ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ มีการปรับตัวลดลงประมาณ 0.30 บาทต่อลิตร จากระดับ 22.59 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือน ก.ค. 63 มาอยู่ที่ระดับ 22.29 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือน ส.ค. 63
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา
- รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดการจัดสัมมนาในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยเฉพาะ
ในช่วงวันธรรมดา - ส่งเสริมให้เกิดการหยุดยาว เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทย รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวเพื่อลดหย่อนภาษี
- ออกมาตรการที่รัดกุมเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวจากต่างชาติโดยเน้นการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง และเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี
- ส่งเสริมให้เกิดการค้าชายแดนเพิ่มมากขึ้น เช่น การคมนาคมขนส่งสินค้าระหว่างกัน
- เร่งเบิกจ่ายงบประมาณในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่าย และสร้างงานในพื้นที่
- สร้างความเชื่อมั่นภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการสร้างภาพลักษณ์ให้นักลงทุนต่างประเทศต้องการเข้ามาลงทุนกับประเทศไทยเพิ่มขึ้น
อ่านต่อ: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.ค. 63 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2