ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติ 2564 ไตรมาส 2

ดัชนี FBCI วัดความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติ ไตรมาส 2 ลดลง อยู่ที่ระดับ 27.7

อัปเดตล่าสุด 11 ส.ค. 2564
  • Share :
  • 479 Reads   

♦ หอการค้าไทย เผยดัชนีสำรวจความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) ไตรมาส 2 อยู่ในระดับ 27.7 ลดลงจากไตรมาสก่อน 

♦ คำสั่งซื้อทั้งจากในประเทศและต่างประเทศลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซา

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) ไตรมาสที่ 2/2564 ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งที่สอง โดยสำรวจความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติ หอการค้าต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทยกว่า 40 ประเทศ ซึ่งมีสมาชิกรวม 8,470 สถานประกอบการ และรายงานผลสำรวจทุกไตรมาสเพื่อสะท้อนภาพการค้า การลงทุน พร้อมทั้งข้อเสนอและสิ่งที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (Foreign Business Confidence Index : FBCI) โดยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 35 ประเทศ จำนวน 70 ราย ในเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) ประจำไตรมาสที่ 2/2564 อยู่ในระดับ 27.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ระดับ 28.5 และดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอยู่ที่ระดับ 26.8

โดยความกังวัลของนักธุรกิจต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทยทั้งด้านภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อในประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ สถานการณ์การท่องเที่ยง สภาพการจ้างงาน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับ 28.5 ขณะที่ปัจจัยด้านธุรกิจโดยเฉพาะผลกำไรและสภาพคล่องของธุรกิจส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอยู่ที่ระดับ 26.8

นอกจากนี้ ผลสำรวจทัศนะต่อเศรษฐกิจไทยพบว่า นักธุรกิจต่างประเทศส่วนใหญ่มองภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย การบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดและวัคซีนไม่เพียงพอ การระบาดของโควิดระลอก 3 ที่รุนแรง กระจายทั่วประเทศและยังควบคุมในวงจำกัดไม่ได้ รวมถึง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยังยากลำบากของภาคธุรกิจเอกชนทำให้เกิดการขาดสภาพคล่อง และส่วนใหญ่มองว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก ขณะที่ประเต็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ 

  • การบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดและวัคซีนไม่เพียงพอ 42.68%
  • การระบาดของโควิดระลอก 3 รุนแรง กระจายทั่วประเทศและยังควบคุมในวงจำกัดไม่ได้ 13.41%
  • การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยากลำบากของภาคธุรกิจเอกชนทำให้เกิดการขาดสภาพคล่อง 12.20%
  • การว่างงานของแรงงานจากสถานการณ์ COVID-19 ส่ งผลต่ออำนาจซื้อ 10.98%
  • ข้อจำกัดและมาตรการที่เข้มงวดในการรับมือโควิด-19 ส่งผลต่อความยากลำบากในการลงทุนและดำเนินธุรกิจ 9.76%
  • ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ซบเซาจากการระบาด COVID-19 และการปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ 7.32%
  • อื่นๆ เช่น เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อน้อยลง เป็นต้น 3.66%

สำหรับผลสำรวจด้านธุรกิจพบว่า สถานการณ์ด้านธุรกิจโดยภาพรวมของนักธุรกิจต่างประเทศนั้น คำสั่งซื้อทั้งจากในประเทศและต่างประเทศลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการในการเยียวยาของรัฐฯได้ และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงินได้ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงควบคุมไม่ได้ และส่วนใหญ่มองว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าสถานการณ์ด้านธุรกิจจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก นอกจากนี้ ได้ยกประเด็นปัญหาทางธุรกิจที่ต้องเผชิญอยู่ ได้แก่

  • คำสั่งซื้อทั้งจากในประเทศและต่างประเทศลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซา 23.94%
  • ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการในการเยียวยาของรัฐฯได้ และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงินได้ 18.31%
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงควบคุมไม่ได้ 15.49%
  • ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทั้งกับผู้บริหารและพนักงาน 12.68%
  • ผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ เช่น ข้อจำกัดในการเดินทาง 8.45%
  • ความเสี่ยงในการนำเข้าและส่งออก จากต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเงินที่ผันผวน และการขาดแรงงานในการผลิต 8.45%
  • ธุรกิจคู่ค้าส่วนใหญ่ปิดตัวลงเป็นการชั่วคราวและถาวร ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก 4.23%
  • อื่นๆ (ต้นทุนการดำเนินการสูงขึ้น, ความไม่แน่นอนทางการผลิตจากสถานการณ์โควิด เป็นต้น) 8.45%

สำหรับประเด็นหลักที่นักธุรกิจต่างชาติต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมไทย คือ การจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศให้เร็วและทั่วถึงที่สุด 41.10% จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้กับภาคธุรกิจ และ SMEs เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนธุรกิจ 16.44% มาตรการช่วยเหลือและเยี่ยวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 12.33% นโยบายให้เงินอุดหนุน ค่าจ้าง ค่าเช่า ฯลฯ ต่อภาคธุรกิจและ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 9.59% กำหนดมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 9.59% แก้ไขกฎระเบียบที่ซับซ้อนในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ 8.22% อื่นๆ (รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท เป็นต้น) 2.74%

ส่วนประเด็นหลักเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ ได้แก่ ควบคุมการแพร่ระบาดและเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มเติมโดยเร็ว เพื่อกระจายให้กับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 29.87% สนับสนุนซอฟโลน และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั้งธุรกิจไทยและต่างประเทศ 23.38% มาตรการสนับสนุนเยียวยาธุรกิจ อาทิ เงินสมทบค่าจ้างพนักงาน เงินประกันสังคม และเงินทุนสนับสนุนต่างๆ 9.09% ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับนักธุรกิจต่างชาติ 7.79% ลดหย่อนหรือยกเว้นการเก็บภาษีทุกรูปแบบ ต่อผู้ได้รับผลกระทบ 5.19% เปิดประเทศภายใต้มาตรการความปลอดภัย 5.19% มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 5.19% สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน ภายใต้ประสิทธิภาพ 3.90% ผ่อนคลายมาตรการการกักกันโรค เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ 2.60% อื่นๆ (เพิ่มกำลังซื้อในประเทศ, สร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น) 7.79%

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH