'แนวทางช่วยผู้ประกอบการ หลังกระทบโควิด' หอการค้าฯ หารือ รองนายกฯ คลายกฎ ช่วย SME เข้าถึงแหล่งทุน

หอการค้าฯ เสนอแนวทาง Digital Factoring Platform ให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน หลังกระทบโควิด เตรียมหารือ รองนายกฯ คลายกฎ

อัปเดตล่าสุด 11 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 519 Reads   

หอการค้าฯ หารือรองนายกฯ เสนอลดระยะเวลา Credit term ช่วยผู้ประกอบการ รายย่อยเหลือ 7-15 วัน รายกลาง 30 วัน พร้อมดัน Digital Factoring Platform ให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน เฟสแรกซึ่งเป็น Sand Box ต้นแบบ มีผู้สนใจ 6,000 ราย ได้รับอนุมัติแล้ว 1,000 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท เตรียมขยายผลผ่านสมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และเครือข่ายในระยะต่อไป ตั้งเป้าหมาย SMEs เข้าร่วม 5 แสนราย ๆ ละไม่เกิน 5 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยกล่าวว่า หอการค้าไทยกำลังเร่งดำเนินนโยบาย Connect the Dots ภารกิจ 99 วันแรกใน 3 ประเด็น ได้แก่ การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ โดยในภารกิจเรื่องการฉีดวัคซีน ได้มีความคืบหน้าไปมาก และกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรองนายกฯ ได้ขอบคุณหอการค้าไทยและภาคเอกชนที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงานเรื่องนี้ ส่วนภารกิจที่ 2 ในเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น หอการค้าไทยเห็นว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะรายเล็ก ประสบปัญหาสภาพคล่องเป็นอย่างมาก และบางรายต้องพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพราะไม่สามารถเข้าถึง Soft Loan ของภาครัฐได้ หอการค้าไทยและเครือข่าย จึงให้ได้ดำเนินการเพื่อช่วยผู้ประกอบการในลักษณะโครงการ Sand Box ต้นแบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง KBANK กับ CRC เพื่อสนับสนุนให้ SME รายย่อยที่เป็นคู่ค้ากับ Retailer ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อเสริมสภาพคล่อง ปรับปรุง และขยายธุรกิจ 

“หอการค้าฯ ได้เสนอให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อให้สถาบันทางการเงินมีอิสระในการใช้ดุลยพินิจมากขึ้น โดยสถาบันทางการเงินจะมีกฎเกณฑ์พื้นฐานในการให้สินเชื่อ ซึ่งจะพิจารณาจากหลายมิติ ไม่ใช่พิจารณาจากเครดิตบูโรเพียงอย่างเดียว รวมถึงการให้ผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถคัดกรองและให้ข้อมูลผู้ขายแก่สถาบันทางการเงิน เพื่อนำมาใช้ประเมินความเสี่ยงได้ นอกจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาปลดล็อคให้ลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโร หรือ NPL ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดนี้ ยิ่งต้องมีการดูแลผ่อนผัน เพื่อให้สถานะฟื้นตัวกลับมาโดยเร็ว” นายสนั่น กล่าว

สำหรับมาตรการเสริมสภาพคล่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จะแบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การลดระยะเวลา Credit term ให้แก่คู่ค้าของบริษัท โดยรายย่อย (เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน บุคคล) เหลือ 7-15 วัน และรายกลาง 30 วัน 2) Digital Factoring Platform ให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยในเฟสแรกซึ่งเป็น Sand Box ต้นแบบ มีผู้สนใจ 6,000 ราย ได้รับอนุมัติ 1,000 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะขยายผลผ่านสมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และเครือข่ายในระยะต่อไป ตั้งเป้าหมาย SMEs เข้าร่วม 5 แสนรายทั่วประเทศ รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน

ในขณะที่โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset warehousing) ซึ่งเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ที่มีหลักทรัพย์หรือหลักประกัน ให้ไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต ได้ขอการพิจารณาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ขยายมาตรการให้ครอบคลุมรวมถึงเงินให้กู้เพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เช่น 30% ของหนี้เดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลักประกันเดิม หรือนำประกันใหม่มาวางประกันเพิ่ม

“หอการค้าไทยกำลังสำรวจความเดือดร้อนของ SMEs รวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ และจะเดินสายหารือกับ CEO ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อย่างน้อย 5 แห่ง ทั้งนี้ ลูกหนี้และสถาบันการเงินจะต้องทำความเข้าใจร่วมกัน มิฉะนั้น โครงการดี ๆ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ โดยคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะสรุปผลได้ ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ รองนายกฯ จะเป็นแกนกลางนัดประชุมหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และภาคเอกชน ในประเด็น พ.ร.บ.สินเชื่อ และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ให้อีกครั้งหนึ่ง” นายสนั่น กล่าว

สำหรับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยวและบริการ หอการค้าไทยกำลังดำเนินโครงการฮักไทย เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และเตรียมเปิดเมืองเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ชูจุดเด่น กิน เที่ยว ใช้ โดยนำร่อง Phuket Sandbox : HUG THAIS HUG PHUKET ร่วมกับ ททท. สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย สมาคมโรงแรม สมาคมสายการบิน สมาคมร้านอาหาร ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ และจะมีการลงนาม MOU ระหว่าง ททท. และ หอการค้าไทย ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ร่วมเป็นประธาน โดยคาดว่าโครงการนี้จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากกว่า 2.7 แสนล้านบาท ใน 6 เดือน คิดเป็น 1.6% ของ GDP ทั้งประเทศ และพยุงการจ้างงานกว่า 2 ล้านอัตรา

ประเด็นสุดท้ายที่ได้มีการหารือกัน คือเรื่อง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ (Ease of Doing Business) ซึ่งมีความคืบหน้าทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สะดวกมากขึ้น (Easier) รวดเร็วขึ้น (Faster) และ ภาระค่าใช้จ่ายลดลง (Cheaper) 

นอกจากนั้น หอการค้าไทยกำลังผลักดันการปรับปรุงกฎเกณฑ์และแก้ไขผลกระทบจากการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงแรมฯ และการเปลี่ยนแปลงการใช้งานอาคารโรงแรม เป็นอาคารสำหรับกิจการประเภทอื่น ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และทีมปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นหัวหน้าทีม เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการประกอบธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง เนื่องจาก สถานการณ์โควิด-19 โดยขอขยายเวลาใบอนุญาตก่อสร้าง กรณีอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงชนิดการใช้ประโยชน์อาคาร

อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรียังได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการท่องเที่ยวภายหลังการฉีดวัคซีนแล้ว ว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงมาตรการ Co Payment ในภาคท่องเที่ยวและบริการ จึงได้สั่งการให้สภาพัฒน์ฯ เข้ามาร่วมหารือกับภาคเอกชนในการหามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะต้องช่วยกันคิดให้รอบคอบ เช่น การระบุตัวตนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ จะใช้เกณฑ์การพิจารณาอย่างไร เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นมีทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบ ซึ่งผู้ที่อยู่นอกระบบจะดำเนินการได้ยากมาก แต่ก็พยายามหาหนทางกับเรื่องเหล่านี้ โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและสถาบันการเงินต่าง ๆ ด้วย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH