ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2565 กันยายน

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.ย. 65 เพิ่มขึ้น 4 เดือนติด

อัปเดตล่าสุด 12 ต.ค. 2565
  • Share :
  • 1,115 Reads   

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) ประจำเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ระดับ 42.5 เพิ่มขึ้น 2.5 ค่าดัชนีฯ ขยับขึ้นต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน เอกชนวอนรัฐออกมาตรการเยียวยาน้ำท่วม พร้อมคุมอัตราดอกเบี้ย พยุงธุรกิจที่เริ่มฟิ้นตัว

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 26-30 กันยายน 2565 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 42.5 เพิ่มขึ้นถึง 2.5 จากเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 40.0 ได้ปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการในการเดินระหว่างประเทศ และยกเลิกระบบ Thailand Pass, นโยบายโครงการคนละครึ่งเฟส 5 และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 รวมถึง ยอดส่งออกไทยเดือนสิงหาคมที่เพิ่มขึ้น 7.54% เป็นต้น

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี
  • ความกังวลของภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
  • ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในพื้นที่
  • สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงจีนกับไต้หวันที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
  • ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 35.879 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 65 เป็น 37.044 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 65
  • SET Index เดือน ก.ย. 65 ปรับตัวลดลง 49.42 จุด จาก 1,638.93 ณ สิ้นเดือน ส.ค. 65 เป็น 1,589.51 ณ สิ้นเดือน ก.ย. 65

ปัจจัยด้านบวก

  • ศบค. ได้ผ่อนคลายมาตรการในการเดินระหว่างประเทศ และยกเลิกระบบ Thailand Pass พร้อมทั้งปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ทั้งประเทศ ตลอดจนมาตรการการใส่หน้ากากอนามัยให้เป็นโดยความสมัครใจ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ
  • ครม. ให้ความเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน เช่น คนละครึ่งเฟส 5 และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5
  • การส่งออกของไทยเดือน ส.ค. 65 ขยายตัวร้อยละ 7.54 มูลค่าอยู่ที่ 23,632.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 21.25 มีมูลค่าอยู่ที่ 27,848.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 4,215.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 3.80 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 34.94 บาทต่อลิตร
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีโดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • มาตรการช่วยเหลือที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัด
  • การดูแลสถานการณ์ด้านอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูง เพราะจะเป็นผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัว
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ เพิ่มเติม เสริมการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมให้สินค้าเกษตรมีตลาดใหม่ ๆ
  • การส่งเสริมสินเชื่อสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ภาคธุรกิจยังคงเป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
  • มาตรการดูแลต้นทุนของปัจจัยการผลิตของธุรกิจไม่ให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง
  • รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ให้เอื้อต่อภาคการค้าทั้งนำเข้า-ส่งออก
  • การดูแลและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทั้งจากไวรัสโควิด 19 และฝีดาษลิง ที่จะส่งผลเสียต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของประชาชน

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #โควิด-19 #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ผลกระทบธุรกิจจากโควิด-19 #บรรเทาผลกระทบโควิด #เยียวยาโควิด #มาตรการควบคุมการระบาด #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH