ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนกันยายน 2564

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME 2564 เดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อัปเดตล่าสุด 14 ต.ค. 2564
  • Share :
  • 615 Reads   

สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจเอสเอ็มอี

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนกันยายน 2564 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม 2564 ที่ระดับ 31.9 มาอยู่ที่ระดับ 35.9 สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจ SME หลังวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 เป็นผลจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ/เสียชีวิต และจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการผ่อนคลายมาตรการให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้มากขึ้น ประชาชนมีความมั่นใจและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตามค่าดัชนี SMESI ยังต่ำจากระดับค่าฐาน (50) อยู่มาก บ่งชี้ปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ยังมีความกังวลต่อภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากก่อนหน้าก็ตาม

องค์ประกอบของดัชนีด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ การลงทุน กำไร และการจ้างงาน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 27.1 28.3 39.0 27.0 และ 43.5 ตามลำดับ ส่วนองค์ประกอบด้านต้นทุนปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.4 และดัชนี SMESI ภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นทั้งหมดมาอยู่ที่ระดับ 35.7 38.5 และ 34.1 ตามลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด ได้แก่ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ 35.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 30.7 เป็นการปรับตัวดีขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ จากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคเป็นสำคัญ และดัชนี SMESI ภาคบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นชัดเจน จากการเปิดให้บริการของสายการบิน และบริษัทขนส่งสาธารณะ ทำให้ผู้คนสามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ได้มากขึ้น ส่งผลให้คำสั่งซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขาธุรกิจ โดยเฉพาะสาขาธุรกิจที่พัก/โรงแรม และสาขาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ 33.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 29.4 ภาพรวมธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของการออกมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน รวมไปถึงการเปิดดำเนินธุรกิจของพื้นที่สีแดงเข้มได้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านการขนส่ง (ไม่ประจำทาง) และบริการเสริมความงาม

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 34.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 30.7  จากการขยายตัวของธุรกิจภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น พัทยา ที่คนเลือกไปพักผ่อนในช่วงวันหยุด ส่วนภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการผลิตอาหาร และเครื่องดื่ม ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นชัดเจน

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ 32.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 28.2 จากภาคการท่องเที่ยวขยายตัว ตามกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวในประเทศ โดยเป็นการเดินทางแบบกลุ่มขนาดเล็ก และใช้รถยนต์ส่วนตัว และเน้นท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทำให้ยอดจองห้องพักในเขตนอกเมืองปรับเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในภูมิภาค โดยเฉพาะสินค้าพื้นเมือง ของฝาก และของที่ระลึก อย่างไรก็ตามปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีแนวโน้มส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจได้ในอนาคต

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ 39.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 36.8 จากการขยายตัวของกลุ่มบริการ เช่น บริการเสริมความงาม ที่พักโรงแรม รวมถึงร้านอาหารที่สามารถกลับมาให้นั่งกินในร้านได้ อีกทั้ง ประชาชนออกมาเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุด อย่างไรก็ตามกำลังซื้อในภาคการเกษตรปรับตัวลดลงจากปัจจัยฤดูกาลที่ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวลงและการหมดฤดูกาลผลไม้บางอย่าง เช่น เงาะ และมังคุด

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 37.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 34.5 ธุรกิจภาพรวมยังมีการขยายตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายที่มากขึ้นโดยเฉพาะในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตามผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ของภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตร และรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจมีผลต่อกำลังซื้อได้ในอนาคต

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 49.9 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 45.2 การคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจในช่วงสิ้นปีปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมาจากแนวโน้มสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่คลี่คลาย และมีการผลักดันมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ที่จะส่งผลต่อการออกมาจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมากขึ้นในช่วงสิ้นปี และผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวทางธุรกิจโดยเน้นกลุ่มลูกค้าในประเทศมากขึ้น และรอความชัดเจนจากภาครัฐในการเปิดรับลูกค้า/นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในอนาคต

ส่วนปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SME ประเทศในเดือนนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ด้านผู้บริโภคและกำลังซื้อ 2. ด้านการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน/ภาครัฐ 3. ด้านต้นทุน  4. ด้านคู่แข่งขัน และ 5. ด้านหนี้สินกิจการ แม้ในเดือนปัจจุบันจะมีการออกมาใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น แต่การใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ อีกทั้งจากการชะลอตัวของธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ยังมีธุรกิจบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงด้านความช่วยเหลือจากหน่วยงาน/ภาครัฐ และมีความกังวลด้านต้นทุนกิจการที่มีสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นในหลายรายการ

 

#ดัชนี SME #ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME #รายงานสถานการณ์ SME ส สว #ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจ #ดัชนีคำสั่งซื้อ SME #ดัชนีการผลิต SME #ดัชนีการค้า SME #ดัชนีการบริการ SME #ดัชนีการลงทุน SME #ดัชนีกำไร SME #ดัชนีการจ้างงาน SME

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH