กกร. ปรับ GDP ปี'64 ขยายตัว 1.5-3% เผยเอกชนแสดงความจำนงซื้อวัคซีนแล้วกว่า 5 ล้านโดส
กกร. ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ปี 2564 เหลือขยายตัวในกรอบ 1.5 ถึง 3.0% แม้ทิศทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจน แต่การระบาดของโควิดระลอกเดือนเมษายนจะกระทบเศรษฐกิจไทยราว 3 เดือน ด้านเอกชนแสดงความจำนงซื้อวัคซีนโควิดแล้วกว่า 5 ล้านโดส
Advertisement | |
การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนเมษายน 2564 โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน กกร. นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นประธานร่วม เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างน้อย 3 เดือน โดยจะกระทบแผนการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยและทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้าทำได้ยากหรืออาจต้องเลื่อนออกไป รวมทั้งกระทบอย่างมากต่อกำลังซื้อเพราะแรงงานในภาคบริการต้องหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงาน ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินที่มีกว่า 2 แสนล้านบาทเข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน (K-shape Recovery) โดยเฉพาะการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศโดยรวม และการขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค นอกจากนี้ การแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งวัคซีนจะเป็นปัจจัยที่สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้มากที่สุด และจะทำให้ภาพของอุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
เศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้าค่อนข้างมาก จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ทำได้รวดเร็ว ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้ สอดคล้องกับรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในเดือน เม.ย. ที่ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ว่าจะขยายตัว 6.0% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 5.5%
ในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้น ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวดีขึ้น แม้หลายประเทศจะยังเผชิญวิกฤตโรคระบาด แต่เครื่องชี้ภาคการผลิตและอุปสงค์ต่างประเทศกลับสะท้อน Momentum ที่มีทิศทางดีขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับรายงานขององค์การการค้าโลก (WTO) ณ เดือน มี.ค. ที่ประเมินว่า ปริมาณการค้าโลก (World Merchandise Trade) ในปี 2564 จะขยายตัวได้ถึง 8.0% เมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 7.2% อันจะเป็นผลดีต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าการประเมินครั้งก่อนด้วยเช่นกัน รวมไปถึงมุมมองต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักของไทยในปี 2564 ที่มีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับการประเมินครั้งก่อน โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงต้นทุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นแรงกดดันสำคัญต่อความสามารถของผู้ส่งออกของไทยในระยะต่อไป จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป
-
ส.อ.ท.วอนรัฐฯ อนุญาตเอกชนกว่า 5 หมื่นรายลงชื่อ พร้อมจัดซื้อวัคซีนโควิด 1 แสนโดส ภายใน มิ.ย.64
-
หอการค้าฯ ระดมสมอง 40 ซีอีโอ ต้องการวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ และพร้อมกระจายวัคซีน สู้วิกฤติโควิด-19 ฟื้น ศก.ไทย
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2563-2564 ของ กกร.
อ่านต่อ:
- กกร. วอนรัฐยกวัคซีนโควิดเป็นวาระแห่งชาติ คง GDP-ส่งออก ปี'64 ขยายตัวในกรอบเดิม
- GDP ปี 2563 หดตัว 6.1% สภาพัฒน์คาดปีนี้เศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นบวก
- กกร.แนะลูกหนี้ SME ติดต่อธนาคารเจ้าหนี้พร้อมดูแลอย่างทั่วถึง