ส่งออกไทย 2564 ใช้สิทธิ์ FTA กรมการค้าต่างประเทศ

ภาพรวมส่งออกไทยใช้สิทธิ FTA โตแรง 31% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10

อัปเดตล่าสุด 13 ม.ค. 2565
  • Share :

กรมการค้าต่างประเทศเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA เดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 มูลค่า 63,104.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.67% ต่อเนื่องเดือนที่ 10 นับตั้งแต่ต้นปี โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ ส่งออกอาเซียนยังคงครองอันดับ 1

วันที่ 12 มกราคม 2565 นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในเดือนตุลาคม 2564 จำนวน 11 ฉบับ จาก FTA จำนวน 14 ฉบับ ที่มีผลบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี (TCFTA) ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-เปรู (TPCEP) ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) โดยไม่รวมถึงความตกลง RCEP ซึ่งเป็นความตกลงใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกงที่ภาษีนำเข้าเป็น 0 จึงไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ FTA เพื่อลดภาษี และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ที่ไม่มีการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิ FTA แต่เป็นการรับรองตนเองของผู้ส่งออก (self-declaration)

โดยเปิดเผยว่า มีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบ FTA ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-ตุลาคม) มูลค่ารวม 63,104.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.67 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึงร้อยละ 78.51 โดยเป็นการใช้สิทธิฯ เพิ่มขึ้นทุกตลาด

ตลาดที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 อาเซียน (มูลค่า 21,539.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยตลาดส่งออกสำคัญของอาเซียนคือ เวียดนาม (มูลค่า 6,290.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อินโดนีเซีย (มูลค่า 4,805.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มาเลเซีย (มูลค่า 4,023.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และฟิลิปปินส์ (มูลค่า 3,806.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อันดับ 2 จีน (มูลค่า 21,372.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อันดับ 3 ออสเตรเลีย (มูลค่า 6,891.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อันดับ 4 ญี่ปุ่น (มูลค่า 5,784.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และอันดับ 5 อินเดีย (มูลค่า 3,990.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับความตกลงการค้าเสรีที่มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA สูงสุด ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ FTA กับมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีภายใต้กรอบ FTA 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ไทย-เปรู (ร้อยละ 100) อันดับ 2 อาเซียน-จีน (ร้อยละ 96.06) อันดับ 3 ไทย-ชิลี (ร้อยละ 94.54) อันดับ 4 ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 78.59) และอันดับ 5 อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 70.32) และสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงภายใต้ FTA อาทิ รถยนต์เพื่อขนส่งของ/บุคคล (อาเซียน, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-ชิลี, อาเซียน-จีน) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-ชิลี) สิ่งสกัดของกาแฟ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ด้ายทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ (ไทย-เปรู) เครื่องซักผ้า (อาเซียน-เกาหลี) ขนมปัง (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ปลาแมคเคอเรล (อาเซียน-ญี่ปุ่น) เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง (ไทย-ญี่ปุ่น) ลวดทองแดง (อาเซียน-อินเดีย) เครื่องปรับอากาศ (ไทย-อินเดีย) ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ (อาเซียน-จีน) เป็นต้น

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH