ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2564 ธันวาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ธ.ค. 64 ปรับตัวดีขึ้นสูงสุดรอบ 9 เดือน

อัปเดตล่าสุด 13 ม.ค. 2565
  • Share :

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) ประจำเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 37.8 เพิ่มขึ้น 9.7 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และปรับตัวดีขึ้นสูงสุดรอบ 9 เดือน ผลจากการที่ ศบค. ผ่อนปรนมาตรการโควิด ทำให้ธุรกิจประกอบกิจการได้ใกล้เคียงปกติ

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-30 ธันวาคม 2564 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 37.8 เพิ่มขึ้นถึง 9.7 จากเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 28.1 โดยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 9 เดือน

โดยค่าดัชนีฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการที่ ศบค.ผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิด ทำให้ให้ภาคธุรกิจสามารถประกอบกิจการได้ใกล้เคียงปกติ, มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ test & go ที่ลดจำนวนวันการกักตัวลง, การที่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ และปรับคาดการณ์ GDP ปี 2564 เป็นขยายตัว 0.9% รวมถึงการส่งออกไทยเดือน พ.ย. 64 ที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยโดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน“
  • ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลทำให้กำลังซื้อสินค้าของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ
  • ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.70 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 0.35 บาทต่อลิตร
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 33.096 ฿/$ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 64 เป็น 33.565 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 64
  • ความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง
  • ปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ หลังจากสหรัฐฯ มีการผ่านกฎหมายแบนสินค้าที่บังคับใช้แรงงานจากจีน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลก และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยด้านบวก

  • ศบค.ผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนสามารถดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจได้ใกล้เคียงปกติ เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม
  • มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ test & go ที่ลดจำนวนวันการกักตัวลง ทำให้มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
  • กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี
  • กนง. ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 0.9% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 0.7%
  • การฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์ COVID-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น และการฉีดวัคซีน COVID ในประเทศเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตรายวันลดลง
  • การส่งออกของไทยเดือน พ.ย. 64 ขยายตัวร้อยละ 24.73 มูลค่าอยู่ที่ 23,647.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 20.47 มีมูลค่าอยู่ที่ 22,629.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,018.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 
  • SET Index เดือน ธ.ค. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 88.93 จุด จาก 1,568.69 ณ สิ้นเดือน พ.ย. 64 เป็น 1,657.62 ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 64
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และปศุสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 หลังจากเทศกาลวันหยุดยาว แต่ไม่ควรให้กระทบภาคธุรกิจ เช่น การ Lockdown หรือสั่งปิดการดำเนินกิจการชั่วคราว
  • กระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศ โดยการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ
  • การดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตที่เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบของผู้ประกอบการ
  • ควบคุมราคาสินค้าให้มีความเหมาะสมกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
  • มาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง 
  • เร่งฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้กับประชาชน พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็ม
    กระตุ้นอย่างทั่วถึง

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #โควิด-19 #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ผลกระทบธุรกิจจากโควิด-19 #บรรเทาผลกระทบโควิด #มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ #มาตรการควบคุมการระบาด #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH