TCC Confidence Index ในเดือนพฤษภาคม 2564

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย พ.ค. 64 ต่ำสุดรอบ 41 เดือน วอนรัฐเร่งฉีดวัคซีน-ขับเคลื่อนการส่งออกฟื้นประเทศ

อัปเดตล่าสุด 10 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 478 Reads   

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 (TCC Confidence Index) อยู่ที่ 24.7 ลดลง 2.9 จากเดือนก่อนหน้า ถือเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 41 เดือน ผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3

จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24-28 พฤษภาคม 2564 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลง ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 24.7 ลดลง 2.9 จากเดือนเมษายน 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 27.6 เป็นผลความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบ 3 ที่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง , การสั่งปิดกิจการทางธุรกิจในหลายประเภท, การงดกิจกรรมสงกรานต์ในหลายพื้นที่, ตัวเลข GDP ไทยไตรมาสแรกติดลบ 2.6% และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงเล็กน้อย รวมถึง การที่หลายธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและปิดกิจการ มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น

Advertisement

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบที่ 3 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต หากสถานการณ์ COVID-19 ยืดยาวออกไป
  • ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรค และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ภายใต้ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อมิให้เหตุการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
  • การสั่งปิดกิจการทางธุรกิจในหลายประเภท ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้
  • สศช. เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2564 ติดลบ 2.6% หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี
  • การชะลอการบริโภคและจับจ่ายใช้สอย จากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 รอบ 3 ทำให้เศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และรายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
  • ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น หรือมีการลดเงินเดือน 
  • ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 31.341 ฿/$ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 64 เป็น 31.299 ฿/$ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 64
  • ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.70 บาทต่อลิตร 
  • มาตรการภาครัฐเข้าไม่ถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

ปัจจัยด้านบวก

  • แผนการฉีดวัคซีน COVID ให้กับประชาชนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตลอดจนการฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์ COVID-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการปรับพื้นที่สถานการณ์และผ่อนคลายมาตรการ COVID-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น
  • กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก จากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3
  • ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโครงการ “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” “เราชนะ” และ“เรารักกัน” เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้
    ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ​
  • การส่งออกของไทยเดือน เม.ย. 64 ขยายตัวร้อยละ 13.09 มูลค่าอยู่ที่ 21,429.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 29.79 มีมูลค่าอยู่ที่ 21,246.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 182.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • SET Index เดือน พ.ค. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.46 จุด จาก 1,583.13 ณ สิ้นเดือน เม.ย. 64 เป็น 1,593.59 ณ สิ้นเดือน พ.ค. 64
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • สร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนเรื่องการกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงเพื่อให้มีเพียงพอกับจำนวนที่ลงทะเบียนไว้ และทำให้การดำเนินชีวิตกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มมีการคลี่คลายลง
  • เร่งการหยุดการระบาดแพร่เชื้อไวรัสโควิด 19 ที่เป็นคลัสเตอร์และกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • ขับเคลื่อนภาคการส่งออกเพื่อเพิ่มระดับการใช้กำลังผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยลดการปลดแรงงานลงในบางอุตสาหกรรม
  • มาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศให้กลับมามีรายได้ทันทีเมื่อประชาชนได้รับวัคซีน และมีภูมิคุ้นกันหมู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  • การใช้มาตรการที่เข้าถึงภาคธุรกิจโดยรับเม็ดเงินหมุนเวียนโดยตรงมากขึ้น เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการคนละครึ่ง เป็นต้น

 

อ่านต่อ: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เม.ย. 64 ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน วอนรัฐเร่งคุมการระบาด ฉีดวัคซีนทั่วถึง

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่

Facebook / Twitter : MreportTH

Youtube official : MReport

Line : @mreportth

Website : www.mreport.co.th