Citibank ฉายทิศทางเศรษฐกิจเอเชียปี'66 สดใส มอง GDP ไทยโตแตะ 4.3% เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5%
ธนาคารซิตี้แบงก์ ฉายภาพเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปี 2566 มีทิศทางบวก จากการสิ้นสุดของการปรับนโยบายการเงินในหลายประเทศ และแนวโน้มการลงทุนโตต่อเนื่องในหลายเศรษฐกิจ ส่วนการเปิดประเทศของจีนคาดส่งผลต่อการเติบโตช่วงครึ่งแรกของปีในระดับต่ำ ขณะที่คาดการณ์ GDP ไทยขยายตัว 4.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.5% แต่ยังแนะให้มีการวางมาตรการเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
วันที่ 15 ธันวาคม 2565 นางสาวโจฮานนา ชัว หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำซิตี้กรุ๊ป กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2566 คาดการณ์เติบโต GDP ที่ 4.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.5% ในปี 2565 แม้มีปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดความเปราะบาง อาทิ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา หรือการพุ่งขึ้นของราคาสินค้า แต่คาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคจะมีการฟื้นตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการสิ้นสุดของปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกในปี 2566 รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ อีกทั้งการอ่อนค่าของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ในครึ่งปีหลังของปี 2566 จะช่วยลดความกดดันของธนาคารกลางในแต่ละประเทศ ขณะที่การเปิดประเทศจีนในครึ่งหลังของปี 2566 แม้ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภายในภูมิภาค แต่อาจทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างสิงคโปร์ เวียดนาม และไทย กินระยะเวลานานขึ้น
นางสาวโจฮานนา กล่าวเสริม สำหรับแนวโน้มการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศในปี 2566 ว่าซิตี้แบงก์คาดการณ์ว่าจะมีการชะลอตัวนำโดยกลุ่มเทคโนโลยีจนถึงช่วงกลางปี 2566 ก่อนฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะ U-shape ในครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นแนวโน้มการลงทุนที่ค่อนข้างมาแรงของสองประเทศในภูมิภาคที่น่าจับตามอง ได้แก่ อินเดีย และ อินโดนีเซีย โดยอินเดียจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2566 รวมถึงอัตรากำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนตรงจากต่างประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนฝั่งของอินโดนีเซียคาดว่าจะเห็นการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ห่วงโซอุปทานของอุตสาหกรรมโลหะคาร์บอนต่ำและแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
- กกร. คาดการณ์ GDP ปี'66 ขยายตัว 3 - 3.5% ห่วงขึ้นค่าแรง 600 ดันต้นทุนธุรกิจพุ่ง 70%
- เงินเยนอ่อน วัตถุดิบแพง อุตสาหกรรมญี่ปุ่นกระทบอย่างไร?
- Citibank คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี'64 ชี้ภูมิภาคเอเชียมาวิน โตสูง 7.5%
ด้าน นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังการเปิดประเทศเต็มรูปแบบมากขึ้น โดยยังคงประมาณการการเติบโตของ GDP ที่ 4.3% ซึ่งมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวราว 23 ล้านคน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ประมาณ 10.1 ล้านคน นอกจากนี้ ยังจะได้แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนจากการฟื้นตัวของรายได้ภาคบริการ ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งอาจกระทบการลงทุนภาคเอกชนบ้าง แต่คาดว่าการลงทุนยังมีแรงหนุนจากแผนพัฒนาระยะยาวของธุรกิจกลุ่ม BCG ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ และโครงการ EEC
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะพลิกกลับมาเกินดุลประมาณ 3.8% ของ GDP แม้ภาคการส่งออกจะชะลอตัว แต่ยังได้อานิสงค์จากรายได้ภาคการท่องเที่ยว รายจ่ายค่าขนส่งในดุลบริการที่ลดลง และการขาดดุลการค้าที่มีแนวโน้มลดลงจากการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาลดลง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยอาจยังคงเผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้ออยู่บ้าง หากราคาพลังงานปรับสูงขึ้น แม้ว่าซิตี้คาดการณ์ (base case) ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5% ในปี 2566 พร้อมทั้งซิตี้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.25% ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ซึ่งการปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในสภาวะที่สภาพคล่องของเงินภายในประเทศยังอยู่ในระดับสูง น่าจะช่วยลดผลกระทบต่อธุรกิจและครัวเรือน อย่างไรก็ดี หากการขยายตัวของเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ ฐานะการคลังของประเทศไทยยังคงพอมีพื้นที่เหลือสำหรับการประคองหรือกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง นางสาวนลิน กล่าวทิ้งท้าย
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH