สถาบันน้ำฯ ส.อ.ท. เตือนผู้ประกอบการ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมภาคใต้ ระหว่างวันที่ 9 – 14 พ.ย. 65
สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินผลกระทบน้ำท่วมไทย พร้อมแจ้งเตือนการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในภาคใต้ ระหว่างวันที่ 9 – 14 พฤศจิกายน 2565
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ให้ข้อมูลว่า ตามการประเมินของ ENSO Model ซึ่งเป็นโมเดลการทำนายปรากฏการณ์เอลนิโญ่ (El Nino) กับความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (Southern Oscillation) พบว่าสภาพอากาศของประเทศไทยจะอยู่ในรูปลานีญา (La Nina) จนถึงสิ้นปี 2565 มีฝนสะสมทั่วประเทศมากกว่าค่าปกติประมาณ 21% เนื่องจากอิทธิพลของพายุทั้ง 3 ลูก ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ได้แก่ “พายุมู่หลาน” ที่เคลื่อนที่เข้าปกคลุมจีนตอนใต้ เมียนมาตอนบน และลาวตอนบน “พายุหมาอ๊อน” ที่เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณประเทศลาวตอนบน และ “พายุโนรู” ที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณจังหวัดยโสธร เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง รวมถึงมรสุมและร่องมรสุมที่สะสมตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา
ในปี 2565 นี้ สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเท่ากับช่วง “มหาอุกภัย” ในปี 2554 เนื่องจากภาครัฐได้เตรียมแผนการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การประชาสัมพันธ์พื้นที่เสี่ยงภัย การจัดเตรียมเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ และการตรวจสอบสภาพคันกั้นน้ำให้พร้อมใช้งาน และในส่วนของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ เพราะได้รับบทเรียนจากปี 2554 ซึ่งจะเน้นที่การติดตามสถานการณ์ รับข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ และเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเตรียมแผนป้องกันและลดผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วม
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีโรงงานบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม และตั้งอยู่บริเวณริมน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีปริมาณมวลน้ำจากทางภาคเหนือที่ไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้กรมชลประทานต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อรักษาเสถียรภาพของเขื่อน
เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาในช่วงเดือนตุลาคม 2565 จะพบว่ามีพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมสะสมมากถึง 44 จังหวัด มากกว่า 260 อำเภอ โดยมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัย 16,472 แห่ง ประมาณการว่าเป็นโรงงานที่ได้รับผลกระทบ 14,995 แห่ง คิดเป็น22% ของโรงงานทั่วประเทศ และหากพิจารณาในส่วนของพื้นที่ที่น้ำท่วมบริเวณภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะพบว่ามีโรงงานตั้งอยู่ 14,055 แห่ง ประมาณการว่ามีโรงงานที่ได้รับผลกระทบ 7,287 แห่ง โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญในภาคกลาง ประเมินว่ามีโรงงานที่ได้รับผลกระทบประมาณ 1,560 แห่ง ซึ่งทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ประเมินความเสียหายในปีนี้รวมทั้งสิ้น 1.2–2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายของภาคเกษตร 6,000-8,000 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม 6,000-12,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 5,000-10,000 ล้านบาท เนื่องจากช่วงต้นเดือนตุลาคม มีพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมขังเพิ่มขึ้น
จากบทเรียนที่ผ่านมา พบว่า การป้องกันปัญหาด้านน้ำของภาคอุตสาหกรรมควรพิจารณาให้ครอบคลุมทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้เตรียมแผนบริหารความต่อเนื่อง หรือ Business Continuity Plan (BCP) ในการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ (1) ส่วนของการป้องกัน จะประกอบด้วยมาตรการในการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง เน้นที่การติดตามสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน เพื่อแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงประเมินสถานการณ์ และวิเคราะห์แนวทางการรับมือกับปัญหา เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุด (2) ส่วนของการฟื้นฟู เป็นส่วนที่กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ให้กลับมามีศักยภาพในการดำเนินกิจการต่อได้ และ (3) ส่วนของการเยียวยา เป็นส่วนที่เน้นกิจกรรมในการบรรเทาปัญหาภัยน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและชุมชนในบริเวณโดยรอบ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและส่งเสริมการทำ CSR ในการอยู่ร่วมกับชุมชน
นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ จึงขอใช้โอกาสนี้แจ้งเตือนการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากวันที่ 9 – 14 พฤศจิกายน 2565 ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ปริมาณฝนตกหนักเพิ่มขึ้นทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เนื่องจากร่องมรสุมยังพาดผ่านภาคใต้ และมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ขอให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ติดตามสถานการณ์จากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทาน เพื่อวางแผนรับมือสำหรับป้องกันและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH