ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2565 มีนาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย มี.ค. 65 ลดต่อเนื่องเดือนที่ 3 วัตถุดิบราคาพุ่ง ฉุดกำลังซื้อ-รายได้ธุรกิจ

อัปเดตล่าสุด 8 เม.ย. 2565
  • Share :

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) ประจำเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 35.5 หดตัว 0.6 ค่าดัชนีฯ ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เป็นผลจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้ง ราคาน้ำมันและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-29 มีนาคม 2565 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลง ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 35.5 ลดลง 0.6 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 36.1 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เป็นผลจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิดในประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอมิครอน, ความกังวลต่อสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน, ราคาน้ำมัน สินค้าและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น, ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเล็กน้อย เป็นต้น

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยโดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน“ ที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว และยังมีจำนวนของผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย
  • ความกังวลต่อการปรับให้โรคการติดเชื่อไวรัส COVID-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น
  • ราคาสินค้าในบางรายการโดยเฉพาะวัตถุดิบมีระดับราคาที่สูง ส่งผลต่อค่าครองชีพ และกำลังซื้อสินค้าของประชาชน และรายได้ของธุรกิจ
  • ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.90 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ มีการปรับตัวลดลงที่ 0.08 บาทต่อลิตร
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 32.674 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 65 เป็น 33.252 ฿/$ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 65
  • การปรับนโยบายและแนวทางการรักษาแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน

ปัจจัยด้านบวก

  • กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2565 และ 2566 ที่ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว
  • ศบค. ปรับมาตรการเข้าประเทศไทยสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ประเภท Test & Go , Sandbox และ Alternative Quarantine นั้น ให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมง รวมทั้งการปรับลดการกักตัวเหลือ 5 วัน
  • สศค. เผยยอดใช้จ่ายสะสม 3 โครงการกระตุ้นบริโภคในประเทศ (โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4) รวมกว่า 6.12 หมื่นลบ
  • การส่งออกของไทยเดือน ก.พ. 65 ขยายตัวร้อยละ 16.2 มูลค่าอยู่ที่ 23,483.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 16.8 มีมูลค่าอยู่ที่ 23,359.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 123.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีโดยเฉพาะข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
  • SET Index เดือน มี.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.06 จุด จาก 1,685.18 ณ สิ้นเดือน ก.พ. 64 เป็น 1,695.24 ณ สิ้นเดือน มี.ค. 65

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • มาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจ และประชาชน
  • ลดต้นทุนภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ยูเครน และรัสเซีย รวมทั้งระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
  • การเร่งเปิดประเทศ หรือลดขั้นตอนในการเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
  • เร่งให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น และให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ
  • กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศ และส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัดในรูปแบบที่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว
  • ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ลงทุนในสิ่งใหม่ๆ ให้มีความต่อเนื่องให้มีความสามารถการแข่งขันกับต่างประเทศ

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #โควิด-19 #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ผลกระทบธุรกิจจากโควิด-19 #บรรเทาผลกระทบโควิด #เยียวยาโควิด #มาตรการควบคุมการระบาด #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH