ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2564 สิงหาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ส.ค. 64 ต่ำสุดประวัติการณ์รอบ 22 ปี ธุรกิจขาดสภาพคล่อง-ทยอยปิดกิจการ

อัปเดตล่าสุด 9 ก.ย. 2564
  • Share :
  • 526 Reads   

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 19.8 ลดลง 0.9 จากเดือนก่อนหน้า โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี ผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและทยอยปิดกิจการ

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25-31 สิงหาคม 2564 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลง ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 19.8 ลดลง 0.9 จากเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 20.7 ดัชนีถอยลงมาต่ำสุดในรอบ 22 ปี หรือ 275 เดือน เป็นผลความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง , มาตรการขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดเพื่อควบคุมการระบาด ยังคงส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ , การปรับลดคาดการณ์ GDP ของ สศค.  และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงเล็กน้อย รวมถึง การสั่งปิดกิจการทางธุรกิจในหลายประเภท ทำให้ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและทยอยปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น

 

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทยที่ยอดผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต
  • มาตรการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อควบคุมการระบาดไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการ
  • สศค. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.7-1.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5-2.5%
  • การสั่งปิดกิจการส่งผลให้ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและทยอยปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น หรือมีการลดเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง
  • กนง. ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยในปี 2564 ลดลงเหลือเติบโต 0.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 1.8% และในปี 2565 จะเติบโตเพิ่มเป็นราว 3.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.9%
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับ 32.611 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 64 เป็น 33.119 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 64
  • ความกังวลเกี่ยวจากเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง

 

ปัจจัยด้านบวก

  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีมาตรการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการเพิ่มเติม ในพื้นที่คลุม 29 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม (ควบคุมเข้มงวดและสูงสุด) และขยายพื้นที่นำร่องอย่าง Phuket Sandbox และ Samui plus
  • สศช. เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในไตรมาสที่ 2/2564 ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ภาคการท่องเที่ยวยังคงไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัส COVID-19
  • การเร่งฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์ COVID-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น และการฉีดวัคซีน COVID เริ่มเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
  • การส่งออกของไทยเดือน ก.ค. 64 ขยายตัวร้อยละ 20.26 มูลค่าอยู่ที่ 22,650.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 45.94 มีมูลค่าอยู่ที่ 22,467.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 183.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • SET Index เดือน ส.ค. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 116.83 จุด จาก 1,521.92 ณ สิ้นเดือน ก.ค. 64 เป็น 1,638.75 ณ สิ้นเดือน ส.ค. 64
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

 

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • เร่งจัดทำแผนการเปิดเมืองที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้นักธุรกิจและประชาชนเตรียมความพร้อม
  • เร่งจัดหาและฉีดวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19
  • เร่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง และหาแนวทางป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ให้แพร่ระบาดภายในประเทศ
  • ออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำ
  • สร้างแผนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #โควิด-19 #วัคซีนโควิด #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ผลกระทบธุรกิจจากโควิด-19 #บรรเทาผลกระทบโควิด #มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ #มาตรการควบคุมการระบาด #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย #Phuket Sandbox 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH