ซาอุกับไทย, หอการค้าไทย, ซาอุดิอาระเบีย, EEC

ไทย-ซาอุดีอาระเบีย 9 เดือน คืบหน้าธุรกิจและการลงทุน 7 ด้านสำคัญ

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ย. 2565
  • Share :
  • 1,764 Reads   

เอกชนเผยความคืบหน้าธุรกิจและการลงทุน ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในระยะ 9 เดือน MOU แล้ว 27 ฉบับ ผ่าน 7 ด้านสำคัญ อาทิ บริการและสุขภาพ, Telemedicine, Game , IOT Platform, AI, 5G, เกษตรและอาหาร Smart Farming, วัสดุก่อสร้าง, ความร่วมมือด้านพลังงาน และการท่องเที่ยว

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)  เปิดเผย ภายหลังที่กระทรวงการต่างประเทศ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และคณะกรรมการ กกร. จัดการประชุม “Thai – Saudi Investment Forum” ซึ่งเป็นเวทีกระชับความสัมพันธ์ ทางการทูตสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับซาอุดิอาระเบีย โดยมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และ Mr. Khalid Abdulaziz Al-Falih, Minister of Investment of the Kingdom of Saudi Arabia (MISA) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม

ทั้งนี้ Vision 2030 ของซาอุดิอาระเบีย ยังมีแผนยกระดับสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดของประเทศ ภายใต้แผน Saudi Green Initiative โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนของประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยภายใต้ BCG โมเดล Bio-Circular และ Green-Economy ซึ่งสองประเทศมีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนแนวทางและความร่วมมือระหว่างกันได้มากยิ่งขึ้น

ในช่วงหนึ่งของการเสวนาหัวข้อ ความคืบหน้าปัจจุบันของธุรกิจและการลงทุนไทย-ซาอุดีอาระเบีย ที่มีผู้แทน กกร. ได้แก่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย นายชาติชาย พานิชชีวะ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากซาอุดิอาระเบีย ได้แก่ Mr. Badr Albadr, Deputy Minister of Investor Outreach, MISA Mr. Nazar Alharkan, Vice Chairman of the Federation of Saudi Chamber of Commerce โดยมี นายคณิต แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษา EEC เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายสนั่น ได้กล่าวว่าในฐานะภาคเอกชนไทย มีความยินดีอย่างยิ่งที่ทั้งสองประเทศ ได้ดำเนินการตามแผนยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกมิติตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมานับแต่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางเยือนซาอุดิอาระเบีย ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรี แห่งซาอุดิอาระเบีย ซึ่งนำมาสู่การลงนาม MOU ระหว่างภาครัฐและเอกชนของสองประเทศ 27 ฉบับ สำหรับความคืบหน้าด้านต่าง ๆ มีดังนี้

1) ด้านการค้า ซาอุดิอาระเบียสนใจที่จะร่วมลงทุนในภาคบริการและสุขภาพของไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมด้านทรัพยากรบุคคล แพทย์ พยาบาล ผู้ให้บริการ และระดับผู้บริหาร ซึ่งไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพสูง 

2) ด้านธุรกิจเทคโนโลยี มีการหารือถึงความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับ Telemedicine, Game , IOT Platform, AI โดยซาอุดิอาระเบียมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี 5G และพร้อมเชื่อมโยงศักยภาพด้านดังกล่าวร่วมกับภาคธุรกิจไทย

3) ด้านการเกษตรและอาหาร คณะผู้แทนจากซาอุดิอาระเบียให้ความสนใจกับตลาดของอาหารฮาลาลแช่แข็งและอาหารกระป๋องของไทย รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง และผลไม้ ที่ไทยมีชื่อเสียงระดับโลก

4) ด้านการลงทุน ซาอุดิอาระเบียกำลังพิจารณาให้ไทยเป็นอีกสถานที่เก็บน้ำมันดิบในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออก ซึ่งไทยยินดีที่จะร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคความมั่นคงด้านพลังงานร่วมกับซาอุดิอาระเบีย นอกจากนี้ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกของประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ OR มีการเข้าไปลงทุนโดยเปิดสาขาแรกของ Amazon Café ในเมืองริยาด เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 150 สาขาภายใน 10 ปี

5) ภาคธุรกิจวัสดุก่อสร้างและการก่อสร้าง ซาอุดิอาระเบียประกาศแผนการพัฒนาเมืองใหม่แห่งอนาคต ภายใต้ชื่อ "เดอะไลน์" มีความยาว 170 กิโลเมตร ถือส่วนหนึ่งของ Saudi Vision 2030 ซึ่งต้องการดึงดูดนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำจากทั่วโลก โดยกลุ่มสยามพิวรรธน์ ที่ได้รางวัลระดับโลกในการพัฒนาศูนย์การค้า อาทิเช่น สยามพารากอน และไอคอนสยาม มีความสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนในเมกะโปรเจกต์ดังกล่าว 

6) ด้านความมั่นคงด้านอาหาร ซาอุดีอาระเบียกำลังลงทุนใน Smart Farming และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทยจะมีโอกาสยกระดับและขยายตลาดภาคเกษตรของไทย ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล

7) ภาคการท่องเที่ยว ทั้งสองประเทศต่างเห็นโอกาสที่จะยกระดับด้านการท่องเที่ยวและบริการร่วมกันให้มากขึ้น โดยประเทศไทยมีพื้นที่และความพร้อมทั้งในส่วนของ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ที่สามารถร่วมมือกับซาอุดิอาระเบียได้ในอนาคต

นายสนั่น กล่าวเสริมว่า เห็นได้ชัดว่าเพียงไม่กี่เดือนภาคเอกชนทั้งสองประเทศ ได้เริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนแผนความร่วมมือโดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุนระหว่างกันได้ชัดเจน หลายบริษัทมีการ MOU และขยายการลงทุนร่วมกันแล้ว สำหรับในวันนี้ก็มีเอกชนทั้ง 2 ประเทศได้มาเจรจาธุรกิจกัน โดยเป็นฝ่ายไทย 150 บริษัท และ ทางซาอุดิอาระเบีย ประมาณ 60 บริษัท เป็นกลุ่ม Tourism & Hotel , Medical & Wellness, Manufacturing, Construction, Finance & Capital Market Digital Asset & Finance, Energy, Retail และ Food ซึ่งการขับเคลื่อนการค้าการลงทุนร่วมกัน ก็ต้องอาศัยภาคเอกชนทั้ง 2 ประเทศร่วมกัน ในนามของ กกร. นับจากนี้คงต้องติดตามและเชื่อมโยงกับภาคเอกชนของซาอุดิอาระเบียมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ที่ทั้งสองประเทศจะสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันต่อไป 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH