ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย พ.ย. 63 เพิ่มขึ้น 6 เดือนติด ผลจากมาตรการคนละครึ่ง
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 (TCC Confidence Index) อยู่ที่ 33.7 เพิ่มขึ้น 0.5 จากเดือนที่แล้ว และปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 เดือนติดต่อกัน
จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 364 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23-30 พฤศจิกายน 2563 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังอยู่ในทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 33.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จากเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 33.2 ผลจากมาตรการคนละครึ่ง ที่ช่วยกระตุ้นการบริโภค และ GDP Q3/2563 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.5%จากไตรมาสก่อนหน้า รวมถึง การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ของ กนง. อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบอยู่พอสมควร ทั้งความกังวลการระบาดของโควิดระลอกที่ 2, สถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ, ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และการส่งออกที่ลดลงในเดือน ต.ค.
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย
ปัจจัยด้านลบ
- สถานการณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน และประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกับประเทศไทยจะต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา
- ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น
- ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.20 บาท ต่อลิตร จากระดับ 20.88 และ 21.15 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือน ต.ค. 63
- การส่งออกของไทยเดือน ต.ค. 63 ลดลงร้อยละ 6.71 มูลค่าอยู่ที่ 19,376.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 14.32 มีมูลค่าอยู่ที่ 17,330.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 31.269 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 63 เป็น 30.477 ฿/$ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 63 ซึ่งสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลเข้าประเทศไทย และผลจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กลับมาจากการแพร่ระบาดของผู้เข้าประเทศโดยไม่ผ่านด่าน
ปัจจัยด้านบวก
- มาตรการคนละครึ่ง ส่งผลต่อการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน และทำให้ร้านค้าขนาดเล็กได้รับผลดีจากมาตรการ
- สศช. เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 3/63 ลดลง 6.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/63
- กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น
- รัฐบาลอนุมัติมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี-ต้นปีหน้า ในโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 2
- SET Index เดือน พ.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 213.36 จุด จาก 1,194.95 ณ สิ้นเดือน ต.ค. 63 เป็น 1,408.31 ณ สิ้นเดือน พ.ย. 63
- ความคืบหน้าของวัคซีนโควิด-19 ที่อาจมีการใช้ในช่วงของปลายปี
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ระยะเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนออกไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดให้มากขึ้น
- แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวหรือด้านอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 และมาตรการช่วยพยุงรักษาการจ้างงานโดยภาครัฐให้กับธุรกิจ
- รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นมา เพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสินค้าไทย นอกจากนี้ผลักดันการส่งออกไปตลาดอื่น โดยเฉพาะตลาดจีนเพราะเป็นตลาดมีขนาดใหญ่ และเศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวหลังจากโควิด 19
- มาตรการการเข้าประเทศอย่างปลอดภัย โดยประกาศใช้กับทุกด่านผ่านแดน นอกจากนี้ควรมีบทลงโทษกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบการควบคุมโรคจนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
อ่านต่อ: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ต.ค. 63 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง