ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2566 กุมภาพันธ์

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.พ. 66 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 9

อัปเดตล่าสุด 9 มี.ค. 2566
  • Share :

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ระดับ 49.7 เพิ่มขึ้น 2.3 ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนเป็นที่ 9 รับปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในแนวโน้มชะลอตัว

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 49.7 เพิ่มขึ้น 2.3 จากเดือนมกราคม 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 47.4 ได้ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2566 เช่น ช้อปดีมีคืน, มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในแนวโน้มชะลอตัว กระทบต่อการส่งออกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ประกอบกับธนาคารกลางปรับขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับที่สูงขึ้น
  • สศช. เผยตัวเลข GDP ของไทยในปี 2565 ซึ่งขยายตัวได้เพียง 2.6% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ประเมินเอาไว้ว่าจะขยายตัวได้ถึง 3.2% ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ได้ปรับประมาณการเติบโตลงเหลือแค่ขยายตัวได้ 2.7 - 3.7%
  • การส่งออกของไทยเดือน ม.ค. 66 หดตัวร้อยละ 4.53 มูลค่าอยู่ที่ 20,249.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.52 มีมูลค่าอยู่ที่ 24,899.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 4,649.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 
  • SET Index เดือน ก.พ. 66 ปรับตัวลดลง 49.11 จุด จาก 1,671.46 ณ สิ้นเดือน ม.ค. 65 เป็น 1,622.35 ณ สิ้นเดือน ก.พ. 66
  • สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงจีนกับไต้หวันที่อาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาพลังงาน ราคาอาหาร และเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น
  • ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงจะเกิดขึ้น เนื่องจากมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ประชาชนยังต้องระมัดระวังการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น

ปัจจัยด้านบวก

  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2566 ให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อย่างมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2566 ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วยวงเงินสูงถึง 40,000 บาท, มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 15% เป็นต้น
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น เนื่องจากประเทศจีนได้มีการเปิดประเทศ และมีเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของชาวจีน คือ ประเทศไทย
  • ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 0.30 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ระดับ 36.08 และ 36.35 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ปรับตัวลดลงประมาณ 1.00 บาทต่อลิตร โดยอยู่ที่ระดับ 33.94 บาทต่อลิตร
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 33.225 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 66 เป็น 34.008 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 66
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • ดูแลเรื่องต้นทุนการประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องค่าพลังงาน
  • สนับสนุนด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งัน
  • การดำเนินการเรื่องสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่ขาดสภาพคล่อง
  • พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การสร้างอาชีพ ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
  • มาตรการแก้ไขภาระหนี้สินในครัวเรือนของประชาชน และหนี้สินทางธุรกิจจากผู้ประกอบการ
  • การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ไม่ให้เกิดภาวะรุนแรงซ้ำขึ้นอีก เนื่องจากปัจจุบันมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้น

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #โควิด-19 #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ผลกระทบธุรกิจจากโควิด-19 #บรรเทาผลกระทบโควิด #เยียวยาโควิด #มาตรการควบคุมการระบาด #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH