เปิดภาพรวมส่งออกไทย ใช้สิทธิฯ FTA และ GSP เดือน ม.ค.-ก.พ. 64

เปิดภาพรวมส่งออกไทย ใช้สิทธิฯ FTA และ GSP เดือน ม.ค.-ก.พ. 64

อัปเดตล่าสุด 10 พ.ค. 2564
  • Share :
  • 412 Reads   

กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เผยภาพรวมการส่งออกไทย ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ช่วง 2 เดือนแรก (เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์) ของปี 2564 ใช้สิทธิเพิ่มขึ้น 5.77%

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 - นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 10,504.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 69.76 แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 9,948.70 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 555.80 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 5.77

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่า 9,948.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.86 มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 70.14 โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 3,607.55 ล้านเหรียญสหรัฐ) 2) จีน (มูลค่า 2,868.49 ล้านเหรียญสหรัฐ) 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 1,222.96 ล้านเหรียญสหรัฐ) 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 1,013.45 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 718.76 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิ-ประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน – จีน (ร้อยละ 82.97) 2) อาเซียน – เกาหลี (ร้อยละ 81.68) 3) ไทย – เปรู (ร้อยละ 79.39) 4) ไทย – ชิลี (ร้อยละ 78.02) และ 5) ไทย – ญี่ปุ่น (ร้อยละ 74.87)

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 555.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.30 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 63.60 ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 493.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.14 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 66.79 อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 37.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 23.16 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 36.94 อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 19.79 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 20.18 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 67.62 และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 4.93 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.41 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 100 สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ถุงมือยาง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง ผลไม้ปรุงแต่ง ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมที่ใช้ในการผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม

ภาพรวมการใช้สิทธิฯ 2 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า การส่งออกไปยังตลาดที่ไทยมีความตกลงฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ร้อยละ 5.77 โดยเฉพาะ อาเซียน – จีน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.78) และอาเซียน – อินเดีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.66) นอกจากนี้ พบว่าบางตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ได้แก่ ไทย – ออสเตรเลีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.81) และไทย – เปรู (เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.04) ส่วนตลาดอื่นๆ แม้ว่าการใช้สิทธิฯ ลดลง แต่พบว่าเป็นการปรับฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยมีการหดตัวน้อยลง ได้แก่ อาเซียน – เกาหลี (ลดลงร้อยละ 2.77) และอาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ (ลดลงร้อยละ 1.16)  สำหรับสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ ขยายตัว และมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง ภายใต้ FTA อาทิ ลำไย เงาะ ลางสาด (อาเซียน – จีน) อาหารปรุงแต่ง (อาเซียน – จีน) น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส (อาเซียน) เครื่องดื่มประเภทนมที่ไม่เติมแก๊ส (อาเซียน) เครื่องซักผ้า (อาเซียน – เกาหลี, ไทย – ชิลี) ยางนอกที่ใช้กับรถยนต์นั่ง (อาเซียน – เกาหลี) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำด้วยเงิน (ไทย – ชิลี, อาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์) ลวดทองแดง (อาเซียน – อินเดีย) เศษของเหล็กกล้าที่ไม่เป็นสนิม (อาเซียน – อินเดีย) กุ้ง (อาเซียน – ญี่ปุ่น) ปลาแมคเคอเรล (อาเซียน – ญี่ปุ่น) ถุงมือใช้ทางศัลยกรรม (ไทย –  เปรู) ด้ายทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ (ไทย –  เปรู) เครื่องปรับอากาศติดผนัง (อาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์) เป็นต้น