ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2566 มีนาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย มี.ค. 66 เพิ่มขึ้น 10 เดือนติด สูงสุดตั้งแต่เริ่มทำสำรวจ

อัปเดตล่าสุด 11 เม.ย. 2566
  • Share :

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) ประจำเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 50.5 เพิ่มขึ้น 0.8 การเลือกตั้ง-ท่องเที่ยว หนุนค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนเป็นที่ 10 สูงสุดตั้งแต่เริ่มทำสำรวจ

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 27-31 มีนาคม 2566 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 50.5 เพิ่มขึ้น 0.8 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 49.7 ค่าดัชนีฯกลับสู่ภาวะปกติ โดยอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในเดือนมีนาคม 2562 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการเตรียมจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม, การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ "โครงการเราเที่ยวกันเฟส 5" และราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการส่งออกยังคงหดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งกระทบต่อความต้องการสินค้าลดลง ซึ่งรวมถึงบรรยากาศความตึงเครียดของสงคราม 2 ประเทศรัสเซียและยูเครน
  • การส่งออกของไทยเดือน ก.พ. 66 หดตัวร้อยละ 4.7 มูลค่าอยู่ที่ 22,376.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 มีมูลค่าอยู่ที่ 48,388.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 5,763.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 
  • SET Index เดือน มี.ค. 66 ปรับตัวลดลง 13.18 จุด จาก 1,622.35 ณ สิ้นเดือน ก.พ. 66 เป็น 1,609.17 ณ สิ้นเดือน มี.ค. 66
  • กนง. มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อปี 2566 จะอยู่ที่ 2.9% และจะลดลงไปที่ระดับ 2.4% ในปี 2567
  • ความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และในบางจังหวัดของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ความคาดหวังการฟื้นตัวของโควิดไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ โควิดบรรเทาลงแต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว
  • ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การล้มละลาย และความปั่นป่วนในภาคธนาคารสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อเสถียรภาพของภาคการเงินไทย

ปัจจัยด้านบวก

  • ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มี.ค. 66 และที่ประชุม กกต. มีมติให้จัดการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 14 พ.ค. 66 ทำให้บรรยากาศในการหาเสียงคึกคักทั่วประเทศและคาดว่าจะมีเงินสะพัด
  • มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในโครงการเราเที่ยวกันเฟส 5 ที่เริ่ม 7 มี.ค. – 30 เม.ย. 66
  • ภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวไทยและธุรกิจโรงแรมคึกคักต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จากการที่ประเทศจีนได้มีการเปิดประเทศ
  • ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 36.08 และ 36.35 ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ปรับตัวลดลงประมาณ 0.50 บาทต่อลิตร โดยอยู่ที่ระดับ 33.44 บาทต่อลิตร
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 34.008 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 66 เป็น 34.503 ฿/$ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 66
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • ดูแลเรื่องพลังงานทั้งค่าน้ำ และค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
  • การควบคุมและรักษาระดับของราคาสินค้าวัตถุดิบของผู้ประกอบการให้อยู่ในระดับต่ำ 
  • ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดสภาพคล่อง และต้องการเข้าถึงสินเชื่อ
  • มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาเรื่องของฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
  • กระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมหลังจากมีการเปิดรับนักท่องเที่ยว และสถานการณ์ของโควิดคลี่คลายลงให้กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #โควิด-19 #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ผลกระทบธุรกิจจากโควิด-19 #บรรเทาผลกระทบโควิด #เยียวยาโควิด #มาตรการควบคุมการระบาด #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH