ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย มิ.ย. 63 เพิ่มขึ้นครั้งแรกรอบ 14 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย มิ.ย. 63 เพิ่มขึ้นครั้งแรกรอบ 14 เดือน

อัปเดตล่าสุด 10 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 526 Reads   

ผศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2563 (TCC CONFIDENCE INDEX) จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 364 ราย ระหว่างวันที่ 22 - 26 มิถุนายน 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ 31.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ที่อยู่ที่ระดับ 31.3 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน อย่างก็ตาม ยังคงต้องเร่งช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังคงลดลงในระดับต่ำกว่า 50 เกือบทุกรายการ โดยดัชนีปัจจุบันอยู่ที่ 25.0 ลดลงจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 25.1 ส่วนดัชนีอนาคตอยู่ที่ 37.9 ลดลงจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 37.5 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการที่ กนง. ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือ -8.1% การส่งออกที่ลดลง  การขยายเวลาการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และยังคงปิดกิจการในบางประเภท 

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • กนง. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2563 ลงเป็น -8.1% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 5.3%
  • ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการต่าง ๆ
  • รัฐบาลขยายเวลาการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และยังคงสั่งปิดกิจการในบางประเภทที่ยังมีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19
  • จำนวนคนว่างงานจากสถานการณ์ COVID เพิ่มขึ้น
  • การส่งออกของไทยเดือน พ.ค. 63 ลดลงร้อยละ -22.5 มูลค่าอยู่ที่ 16,278.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ -34.41 มีมูลค่าอยู่ที่ 13.583.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ค่า SET Index เดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวลงลด 3.82 จุด จาก 1,342.85 ณ สิ้นเดือน พ.ค. 63 เป็น 1,339.03 ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 63
  • ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 32.634 ฿/$ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 63 เป็น 31.156 ฿/$ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 63 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกจากประเทศไทย
  • สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ COVID

ปัจจัยด้านบวก

  • รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 และ 4 ต่อเนื่อง รวมทั้งมีการยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) เพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ ที่ปิดไปสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ปกติ
  • ภาครัฐดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัส COVID 19 ส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งด้านการตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม
  • การค้าชายแดนยังคงขยายตัวขึ้น เนื่องจากภาคธุรกิจยังสามารถส่งสินค้าผ่านชายแดนได้อย่างต่อเนื่อง
  • สถานการณ์ความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวและเน้นการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง และพิจารณาการทำ Bubble หรือ Selective Travel ในกลุ่มประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19
  • เร่งดำเนินการโครงการของภาครัฐที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ เพื่อสร้างงานในระบบมากขึ้น
  • เร่งมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินการได้
  • มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในภาวะตึงตัวจากการหยุดกิจการชั่วคราวในช่วงที่ผ่านมา และเริ่มกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามมาตรฐานของสถาบันการเงิน
  • เร่งพิจารณาการเปิดด่านสำหรับค้าขายสินค้าตามแนวชายแดนอย่างเต็มรูปแบบเพื่อทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ในเวลาอันเร็วขึ้น

 

อ่านต่อ: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย พ.ค.63 ร่วงต่อเนื่อง เอกชนวอนรัฐเร่งช่วยเหลือภาคธุรกิจ