ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2566 พฤษภาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 12

อัปเดตล่าสุด 8 มิ.ย. 2566
  • Share :
  • 1,180 Reads   

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 53.6 เพิ่มขึ้น 1.7 จากเดือนก่อนหน้า ได้ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ดันค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น 12 เดือนติด

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24-31 พฤษภาคม 2566 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 53.6 เพิ่มขึ้น 1.7 จากเดือนเมษายน 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.9 ค่าดัชนีฯ อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 65 เดือน นับตั้งแต่เริ่มทำสำรวจ โดยได้รับปัจจัยบวกจากการการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว , การปรับลดราคาน้ำมันในเดือนที่ผ่านมา และราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว, ปัญหาค่าเชื้อเพลิง และพลังงาน, ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน และการหดตัวของภาคการส่งออกในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี
  • ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน และยังอยู่ในช่วงรอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
  • ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวและการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์
  • เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูงซึ่งรวมถึงบรรยากาศความตึงเครียดของสงคราม 2 ประเทศ รัสเซียและยูเครน
  • ปัญหาค่าเชื้อเพลิง และพลังงาน รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ความกังวลต่อการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่มีในการดำเนินตามนโยบายของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่
  • การส่งออกของไทยเดือน เม.ย. 66 หดตัวร้อยละ 7.6 มูลค่าอยู่ที่ 21,723.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 7.3 มีมูลค่าอยู่ที่ 23,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,471.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID 19 ที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเนื่องจากมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ประชาชนยังต้องระมัดระวังการดำเนินชีวิตประจาวันมากขึ้น

ปัจจัยด้านบวก

  • กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยคึกคักต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ
  • SET Index เดือน พ.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.42 จุด จาก 1,529.12 ณ สิ้นเดือนเม.ย. 66 เป็น 1,533.54 ณ สิ้นเดือน พ.ค. 66
  • ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E 10 ) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมา ประมาณ 0.550 บาทต่อลิตร อยู่ที่ระดับ 34.88 และ 35.15 ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ปรับตัวลดลงประมาณ 1.00 บาทต่อลิตร โดยอยู่ที่ระดับ 31.94บาทต่อลิตร
  • ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 34.285 ฿/$ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 66 เป็น 34.253 ฿/$ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 66
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • ความกังวลของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งจะกระทบกับต้นทุนของธุรกิจเป็นส่วนมาก จึงอยากให้มีการพิจารณาหาวิธีที่เหมาะสมร่วมกัน
  • การปรับลดต้นทุนสทางด้านธุรกิจต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน
  • ความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และความพร้อมในการขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐ
  • กระจายความเจริญของเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ให้มีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับเมืองใหญ่
  • ควบคุมป้องกันการทุจริตคอรัปชันของหน่วยงานภาครัฐ
  • ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้น

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #โควิด-19 #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ผลกระทบธุรกิจจากโควิด-19 #บรรเทาผลกระทบโควิด #เยียวยาโควิด #มาตรการควบคุมการระบาด #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH