ต่างชาติเชื่อมั่นไทย ปี '63 หอบเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้าน
ไทยยังคงเนื้อหอม ปี 2563 ต่างชาติ 252 ราย หอบเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ ญี่ปุ่นนำโด่งเข้าวินลำดับ 1 ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม บริการด้านคอมพิวเตอร์ บริการทางวิศวกรรม และบริการขุดเจาะปิโตรเลียม ได้รับความสนใจสูงสุด จ้างงานคนไทยกว่า 11,000 คน เชื่อ!!! เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความเชื่อมั่นในศักยภาพด้านการสาธารณสุขของไทยในการรับมือโรคโควิด-19 มั่นใจปี '64 ต่างชาติเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายและเศรษฐกิจที่ผันผวนทั่วโลก
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ปี 2563 ที่ผ่านมา ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตร่วมกันจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนยุติลงชั่วคราว รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยหันมาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและสอดรับกับการใช้ชีวิตยุค New Normal มากขึ้น สำหรับประเทศไทย ปี 2563 เป็นปีที่สุดแสนท้าทายในการประกอบธุรกิจ ทั้งนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ตัดสินใจลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากการลงทุนของทุกประเทศทั่วโลกเกิดการชะลอตัว เพื่อรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาด การยับยั้ง และความสำเร็จจากการฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 ทำให้ทุกประเทศกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้ได้มากที่สุด"
ปี 2563 ไทยมีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ) จำนวนทั้งสิ้น 252 ราย โดยประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสูงสุด จำนวน 92 ราย (คิดเป็นร้อยละ 36) รองลงมา คือ สิงคโปร์ จำนวน 38 ราย (คิดเป็นร้อยละ 15) อันดับ 3 คือเนเธอร์แลนด์และฮ่องกง ที่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนจำนวนเท่ากัน 17 ราย (คิดเป็นร้อยละ 17) อันดับที่ 4 คือ เกาหลีใต้ จำนวน 10 ราย (คิดเป็นร้อยละ 4) และอื่นๆ จำนวน 78 ราย (คิดเป็นร้อยละ 31)
สำหรับประเภทธุรกิจที่นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุด คือ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม เช่น บริการทางบัญชี บริการให้เช่าพื้นที่และสาธารณูปโภค รับจ้างผลิตสินค้า ฯลฯ มีจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,279 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 40) รองลงมา คือ ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง เช่น นายหน้าประกันชีวิตประกันวินาศภัย ค้าปลีกเครื่องจักร เครื่องกล อะไหล่ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม ค้าส่งเคมีภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ จำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 994 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 19) อันดับ 3 ธุรกิจบริการอื่น เช่น บริการด้านคอมพิวเตอร์ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการให้คำปรึกษาแนะนำ บริการทางการเงิน ฯลฯ มีจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 456 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 14)
ทั้งนี้ ธุรกิจบริการที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและมีมูลค่าการลงทุนสูง จะเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ เช่น บริการทางวิศวกรรมที่เกี่ยวกับระบบควบคุมอัตโนมัติของโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ บริการเป็นที่ปรึกษาเพื่อควบคุมการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา (EEC) บริการตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยของอาคารเทียบเครื่องบิน บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน เป็นต้น รวมถึง เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) อย่างอุตสาหกรรมดิจิทัลที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต เช่น บริการออกแบบ ติดตั้ง วางระบบแพร่ภาพและกระจายเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อสินค้าและบริการของผู้ประกอบการกับผู้บริโภค บริการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น
และจากการเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยของนักลงทุนชาวต่างชาติดังกล่าว ทำให้เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 11,000 คน รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน ทั้งนี้ การลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ ปี 2563 (นักลงทุน 252 ราย) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 อยู่จำนวน 35 ราย (ปี 2562 นักลงทุน จำนวน 217 ราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.13 และมีการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น จำนวน 6,162 ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 127 (ปี 2563 จ้างงานคนไทย 10,991 คน และปี 2562 จ้างงานคนไทย 4,829 คน)
ตั้งแต่ปี 2543 - 2563 (21 ปี) ไทยมีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ จำนวนทั้งสิ้น 5,824 ราย เงินลงทุนรวมกว่า 323,779 ล้านบาท โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดคือ ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2,240 ราย (คิดเป็นร้อยละ 38) รองลงมา คือ สิงคโปร์ จำนวน 872 ราย (คิดเป็นร้อยละ 15) อันดับ 3 คือ ฮ่องกง จำนวน 311 ราย (คิดเป็นร้อยละ 6) อันดับที่ 4 คือ เยอรมนี จำนวน 294 ราย (คิดเป็นร้อยละ 5) อันดับที่ 5 คือ เนเธอร์แลนด์ จำนวน 258 ราย (คิดเป็นร้อยละ 4) และอื่นๆ จำนวน 1,846 ราย (คิดเป็นร้อยละ 32) สำหรับประเภทธุรกิจที่นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุด คือ ธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทน/ภูมิภาค จำนวน 1,481 ราย (คิดเป็นร้อยละ 26) รองลงมา คือ ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 650 ราย (คิดเป็นร้อยละ 11) อันดับ 3 ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐ/เอกชน จำนวน 613 ราย (คิดเป็นร้อยละ 11) และ บริการอื่นๆ จำนวน 3,080 ราย (คิดเป็นร้อยละ 53)
ทั้งนี้ สถานการณ์การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในไทย ปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ยังเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องบรรยากาศที่ดีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ การมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและออกมาตรการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยผ่านนโยบายส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การออกมาตรการจูงใจเป็นพิเศษสำหรับการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หรือการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve รวมทั้ง มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนชาวต่างชาติเกี่ยวกับศักยภาพด้านการสาธารณสุขของไทยในการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า ปี 2564 นี้ ชาวต่างชาติยังคงเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายและเศรษฐกิจที่ผันผวนทั่วโลก โดยธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนและคาดว่าจะเติบโตนั้นจะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ในยุค New Normal ที่ทำให้ธุรกิจด้านดิจิทัล โดยเฉพาะธุรกิจด้าน e-Commerce ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในระบบ supply chain ขยายตัวตามไปด้วย อาทิ ธุรกิจบริหารจัดการคลังสินค้า ธุรกิจพัฒนาเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น ธุรกิจบริการสั่งสินค้าออนไลน์ ธุรกิจบริการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เป็นต้น จะเห็นได้ว่ารูปแบบของธุรกิจที่ลงทุนจะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคมากขึ้น