กกร. คาด COVID-19 ทำเศรษฐกิจพังถึงหลักล้านล้าน-กระทบแรงงานหลายล้านคน

อัปเดตล่าสุด 10 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 498 Reads   

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, และสมาคมธนาคารไทย โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตฯ ในฐานะประธาน กกร. แถลงภายหลังการประชุมร่วม ผ่านระบบ Video Conference ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ชัดเจนขึ้น โดยเกือบทุกเครื่องชี้เศรษฐกิจหลักหดตัวลง ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิตและการลงทุน มีเพียงการบริโภคสินค้าไม่คงทนที่ยังขยายตัว ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน เครื่องชี้เศรษฐกิจจะยังอยู่ในภาวะที่แย่ลงต่อเนื่อง เพราะแม้สถานการณ์การระบาดในจีนจะทยอยคลี่คลาย แต่การระบาดนอกจีนและในประเทศไทยที่ยังรุนแรง ทำให้นานาประเทศออกมาตรการควบคุมเพิ่มเติม เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่ภาครัฐประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2563 และมีมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล 

ซึ่งการระบาดของ COVID-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยองค์การระหว่างประเทศหลายสถาบันต่างทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจหลักในโลกลง สำหรับเศรษฐกิจไทยเองก็หนีไม่พ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกันโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นี้ และเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ 

ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่ประชุม กกร. มองว่า แม้ภาครัฐจะมีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบระยะที่ 1-2 และเตรียมที่จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม รวมถึงมีมาตรการจาก ธปท. และสถาบันการเงินต่าง ๆ แต่โดยรวมแล้วก็อาจจะไม่สามารถทดแทนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจและประชาชน จากการขาดรายได้และการหยุดหรือปิดกิจการ โดย กกร. ประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยอาจมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และกระทบการจ้างงานหลายล้านคน นอกจากนี้ หากการระบาดของ COVID-19 สามารถยุติลงได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ สู่ภาวะปกติก็คงต้องใช้เวลา 

ภาคเอกชนขอขอบคุณที่ภาครัฐ เห็นถึงความสำคัญของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะ มาตรการในการยับยั้งการแพร่กระจายของโรค COVID-19 ที่เข้มข้น มุ่งเน้นการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งมาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การผลิตและการบริการเป็นวงกว้าง ภาคเอกชน พร้อมติดตามเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง และได้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่บางส่วนทำงานที่บ้าน (Work From Home) ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกันรณรงค์ไปยังเครือข่ายสมาชิก ทั้ง 3 องค์กร เพื่อปฏิบัติตามแนวทางที่ภาครัฐได้ออกมา ซึ่งถือเป็นเรื่องดี และต้องขอบคุณภาครัฐที่อนุมัติ มาตรการดูแลและเยียวยา COVID-19 ระยะที่ 3 ทั้ง พรก.กู้เงิน การเลื่อนกำหนดชำระหนี้ให้ SMEs การจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วย SMEs  เป็นต้น ซึ่งทางกกร. จะยังไม่มีการพิจารณาปรับ GDP ในเดือนนี้ เพื่อรอประเมินผลกระทบจากมาตรการต่าง ๆ ที่มติครม.ออกมาอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ กกร.มีมติจัดตั้ง E-Commerce Platform เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ เรายังอยากเสริมในประเด็นของทั้ง แรงงาน ลูกจ้าง เพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการหารือกันในวันนี้ โดยภาคเอกชนได้มี ข้อเสนอเพิ่มเติมต่อมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงานจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนี้ 

มาตรการด้านผู้ประกอบการ 

  1. ขอให้ภาครัฐพิจารณาออกคำสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด (โดยยกเว้นให้โรงแรมหรือบริการอื่น ๆ ที่มีความจำเป็น สามารถเปิดกิจการโดยความสมัครใจ  อาทิ เป็นที่พักบุคคลากรทางการแพทย์ หรือ ที่พักของผู้กักตัว เป็นต้น)
  2. ขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ และปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันได้ลดลงอย่างมาก จึงขอให้ค่า FT สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงด้วย
  3. เพิ่มสภาพคล่องโดยการอัดฉีดวงเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% โดยให้ บสย.ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มจาก 40% เป็น 80% 
  4. ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของ Covid-19
  5. รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้า จากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) ในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้ใน Covid-19

 

มาตรการด้านแรงงาน 

  1. ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยรายได้  โดยพนักงานที่เข้าระบบ Leave without pay จะไม่สามารถได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการของสถานประกอบการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท ดังนั้น ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายเงิน 50%  ของค่าจ้าง ตามที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
  2. อนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และ ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน (ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน) 
  3. ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% ให้เท่ากับผู้ประกันตน  ตามมาตรา 33 
  4. เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทโดยยังได้รับ   เงินเดือน 75% และไม่ตกงาน รวมทั้งสามารถช่วยเหลือ โดย บริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีโอกาสปลดแรงงานออก สามารถที่จะจ่ายเงินเดือนในจำนวนเงิน 75% ของเงินเดือนที่ได้รับปกติ โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างเงินเดือน 50%  (จากประกันสังคม) และบริษัทเอกชนจ่ายอีก 25% ให้พนักงานและแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท
  5. บริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงระหว่าง COVID-19 ระบาด

 

มาตรการด้าน Logistic 

ปัจจุบันแต่ละจังหวัดมีการประกาศมาตรการไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหาในการขนส่ง กกร.จึงขอเสนอให้ ศบค. ประกาศมาตรการจากส่วนกลางเพื่อปฎิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ โดยขอให้ กกร. มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการเพื่อให้สามารถปฎิบัติได้ 

สุดท้ายนี้ ภาคเอกชนพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการทำงานบูรณาการ กับหน่วยงานต่างๆ   ทั้งในช่วงภาวะฉุกเฉิน และหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

 

อ่านต่อ: แถลงข่าว กกร. เดือน มี.ค. 63