อาเซียนถกจีน ตั้งเป้าอัปเกรด FTA จบปี'67 จับมือญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ร่วมมือเศรษฐกิจ
เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน ถกจีนยกระดับ FTA ตั้งเป้าสรุปในปี 2567 ไทยย้ำต้องเปิดตลาดเพิ่ม และแก้อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด พร้อมริเริ่มร่วมมือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน-จีน คาดชงรัฐมนตรีเห็นชอบ ส.ค.นี้ เผยยังได้จับมือญี่ปุ่นเร่งจัดทำข้อผูกพันเปิดเสรีการลงทุน ร่วมมือด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ และจับมือเกาหลีใต้อัปเกรด FTA และร่วมมือด้านเศรษฐกิจในประเด็นใหม่ ๆ
วันที่ 8 มิถุนายน 2566 นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนกับคู่เจรจากรอบอาเซียน-จีน ครั้งที่ 43 อาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1/28 และอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 38 เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยในส่วนของอาเซียน-จีน ที่ประชุมได้มีการหารือแนวทางเพื่อจัดการกับอุปสรรคทางการค้าและมาตรการที่มิใช่ภาษีของจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้านำเข้าจากอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งตกลงที่จะใช้กลไกคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA JC) ในการติดตามและหารือเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
ทั้งนี้ ยังได้ติดตามความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลง ACFTA ที่ได้เริ่มการเจรจาแล้วในปีนี้ โดยมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งจีนยินดีที่จะจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ให้กับอาเซียนในประเด็นที่ต้องการ เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันในประเด็นการเจรจาต่างๆ และคาดว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปตามเป้าหมายภายในปี 2567 โดยไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ในด้านเศรษฐกิจ ได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมว่า การเจรจายกระดับจะต้องให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดเพิ่มเติม และจะต้องแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุนและอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน รวมทั้งยกระดับมาตรฐานของความตกลง ACFTA ให้ทันสมัย
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้แผนงานขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าอาเซียน-จีนเชิงลึก ปี 2565–2569 เพื่อขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้า ซึ่งการดำเนินงานมีความคืบหน้าไปตามเป้าหมาย และได้หารือเกี่ยวกับข้อริเริ่มในการขยายความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน-จีน โดยคาดว่าจะเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน เห็นชอบในเดือน ส.ค.2566 นี้
- บีโอไอบุกจีน ดึงอีวี อิเล็กทรอนิกส์ ขยายฐานผลิตในไทย
- ภาวะการลงทุนปี 2566 ไตรมาสแรก ยอดขอรับส่งเสริมกว่า 1.8 แสนล้าน 'เกาหลีใต้' ลงทุนผ่าน FDI สูงสุด
- ‘โรงงานจีน’ ดิ้นสู้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและเทคโนโลยีไฮเทค
นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า สำหรับการหารือกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) โดยที่ประชุมได้มอบคณะอนุกรรมการด้านการค้าบริการและด้านการลงทุน เร่งหารือประเด็นคงค้างสำคัญ ได้แก่ การเจรจาจัดทำข้อผูกพันเปิดเสรีการลงทุน เพื่อให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และการจัดทำสรุปกฎหมายหรือมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีภาคบริการของสมาชิก เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และยังได้หารือเรื่องแนวทางการดำเนินการใหม่ๆ โดยญี่ปุ่นได้เสนอให้มีการจัดทำข้อริเริ่ม “การออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น” ซึ่งมีความร่วมมือสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการส่งเสริมความเข้มแข็ง อาทิ การส่งเสริม MSMEs ให้นำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ 2.ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาทิ การพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอาเซียนและญี่ปุ่น 3.ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมไร้พรมแดน อาทิ โครงการภาคเอกชนญี่ปุ่นช่วยเหลือเอกชนของอาเซียนในการผลิตสินค้าและบริการ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และ 4.ด้านการสร้างความยั่งยืน อาทิ โครงการการเร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่น โดยทั้งสองฝ่ายจะหารือต่อไป ซึ่งเมื่อข้อเสนอนี้มีความชัดเจนแล้ว จะได้นำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน–ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ในเดือนธันวาคมนี้ ณ กรุงโตเกียว เพื่อเป็นการย้ำถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างแน่นแฟ้น อันเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน–ญี่ปุ่น
ส่วนกรอบอาเซียน-เกาหลีใต้ ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) เช่น การจัดทำตารางลดภาษีจากฉบับปี 2017 (HS 2017) เป็นฉบับปี 2022 (HS 2022) และการบังคับใช้พิธีสารที่แก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลีใต้ โดยไทยได้เรียกร้องให้เวียดนาม เร่งดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อให้สามารถบังคับใช้พิธีสารเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความโปร่งใสทางการค้า ที่จะช่วยส่งเสริมให้การค้าระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้เติบโตยิ่งขึ้น และยังได้หารือการยกระดับความตกลง AKFTA ให้ทันสมัย และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น โดยจะรายงานผลการศึกษาให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจายกระดับความตกลง AKFTA ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าของการศึกษาวิจัยด้านการค้าดิจิทัล ที่เกาหลีใต้พยายามผลักดันให้มีการจัดทำความตกลงการค้าดิจิทัลอาเซียน–เกาหลีใต้ หรือเจรจาจัดทำข้อบทใหม่ภายใต้ความตกลง AKFTA และเกาหลีใต้ยังแสดงความพร้อมที่จะสานต่อร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอาเซียนผ่านกลไกต่างๆ อาทิ การจัดทำแผนงานนโยบายสตาร์ทอัพระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม โครงการ TASK ที่เกาหลีใต้จัดผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบอาเซียนในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทยจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเกาหลีใต้ที่มีความโดดเด่นอย่างมากในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมและสตาร์ทอัป
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH