ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2565 พฤศจิกายน

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย พ.ย. 65 เพิ่มขึ้น 6 เดือนติด

อัปเดตล่าสุด 8 ธ.ค. 2565
  • Share :

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ระดับ 43.9 เพิ่มขึ้น 0.8 ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 6 เอกชนห่วงค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลต่อธุรกิจส่งออกนำเข้า วอนรัฐกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ เสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23-30 พฤศจิกายน 2565 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 43.9 เพิ่มขึ้น 0.8 จากเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 43.1 ได้ปัจจัยบวกจากการที่ ครม. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาโควิด, SET Index เดือน พ.ย. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.25 จุด และการที่ สศช. เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปีนี้ขยายตัว 4.5% รวมถึง ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น เป็นต้น

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความกังวลของราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตของธุรกิจ
  • กนง. มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.00% เป็น 1.25% ต่อปี และปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ในปี 2565 จะขยายตัว 3.2% ลดลงเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ 3.3% ปี 2566 ขยายตัว 3.7% ลดลงจาก 3.8%
  • ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 37.920 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65 เป็น 36.427 ฿/$ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 65
  • สถานการณ์ข่าวที่ออกมาว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปี 66” ทำให้ไม่มั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทย
  • ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ
  • การส่งออกของไทยเดือน ต.ค. 65 ลดลงร้อยละ 4.41 มูลค่าอยู่ที่ 21,772.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าลดลงร้อยละ 2.07 มีมูลค่าอยู่ที่ 22,368.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 15,581.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 
  • ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน และรวมถึงผลผลิตทางการเกษตร
  • สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงจีนกับไต้หวันที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

ปัจจัยด้านบวก

  • ครม. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน
  • SET Index เดือน พ.ย. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.25 จุด จาก 1,608.76 ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65 เป็น 1,635.36 ณ สิ้นเดือน พ.ย. 65
  • สศช. เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัว 4.5% เทียบกับไตรมาส 2 ที่โต 2.5% พร้อมทั้งปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจในปี 2565 จะเติบโต 3.2% จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 2.7-3.2 %
  • ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 0.06 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 34.94 บาทต่อลิตร
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • แนวทางควบคุมต้นทุนปัจจัยการผลิตของธุรกิจ รวมถึงเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้เอื้อต่อธุรกิจส่งออกนำเข้า
  • ส่งเสริมกระตุ้นการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ
  • เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติของสถานการณ์น้ำท่วมขัง และน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัด
  • ส่งเสริมกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้ามาใช้จ่ายภายในประเทศ
  • มาตรการรับมือในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่เริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #โควิด-19 #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ผลกระทบธุรกิจจากโควิด-19 #บรรเทาผลกระทบโควิด #เยียวยาโควิด #มาตรการควบคุมการระบาด #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH