กกร. คง GDP ปี'65 ขยายตัว 2.75 - 3.5% หวั่นเงินเฟ้อพุ่ง กระทบครัวเรือน-ต้นทุนธุรกิจ

กกร. คง GDP ปี'65 ขยายตัว 2.75 - 3.5% หวั่นเงินเฟ้อพุ่ง กระทบครัวเรือน-ต้นทุนธุรกิจ

อัปเดตล่าสุด 3 ส.ค. 2565
  • Share :
  • 1,706 Reads   

กกร. คงตัวเลขคาดการณ์ GDP ปี 2565 ยังอยู่ในกรอบ 2.75-3.5% ส่งออกขยับขึ้นขยายตัว 6-8% เงินเฟ้อขยายตัว 5.5-7% หวั่นราคาพลังงานดันเงินเฟ้อพุ่ง กระทบครัวเรือน-ต้นทุนธุรกิจ

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนสิงหาคม 2565 โดยมี นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธาน กกร. นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานร่วม เปิดเผยภายหลังการประชุม ณ ห้องราชมณเฑียร แกรนด์ บอลรูม ชั้น M โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพ ว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจนขึ้น เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2 โดยเศรษฐกิจของสหรัฐฯหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก และจีนขยายตัวต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลงสู่ 3.2% ในเดือน ก.ค. จาก 3.6% ในเดือน เม.ย. จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจนกระทบครัวเรือนและภาคธุรกิจ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลาง และผลข้างเคียงต่อห่วงโซ่อุปทานจากมาตรการ Zero COVID ที่เข้มงวดของจีน เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งตัวเลขการส่งออกเดือน มิ.ย. ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกไปประเทศเศรษฐกิจหลักเริ่มแผ่วลงบ้างแล้ว

เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 5.6% ซึ่งสูงกว่าภาวะปกติที่ 1-3% มาก และคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งการปรับขึ้นราคาสินค้าที่เริ่มกระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น นอกจากนั้นหากมีการปรับขึ้นค่าไฟในงวด ก.ย.-ธ.ค. ก็จะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อให้เร่งตัวขึ้นได้อีก ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะกระทบอำนาจซื้อภาคครัวเรือนและต้นทุนของภาคธุรกิจ 

ด้านการท่องเที่ยว และมาตรการภาครัฐเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวชัดเจนขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังยกเลิกมาตรการ Thailand Pass คาดว่ามีโอกาสแตะระดับ 7-8 ล้านคน ประกอบกับยังมีแรงหนุนกำลังซื้อจากมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 ที่คาดว่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายได้ประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท หรือราว 0.2% ของ GDP ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศและภาวะเงินเฟ้อที่กระทบอำนาจซื้อ ทำให้ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังโตได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว

 

โดยที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.75% ถึง 3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 6.0% ถึง 8.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 5.5% ถึง 7.0%
 
 
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ของ กกร.
 
%YoY

ปี 2565

(ณ มิ.ย. 65)

ปี 2565

(ณ ก.ค. 65)

ปี 2565

(ณ ส.ค. 65)

GDP  2.5 ถึง 4.0 2.75 ถึง 3.5 2.75 ถึง 3.5
ส่งออก 3.0 ถึง 5.0 3.0 ถึง 7.0 6.0 ถึง 8.0
เงินเฟ้อ 3.5 ถึง 5.5 5.0 ถึง 7.0 5.5 ถึง 7.0

 

โดย กกร. ยังได้หารือเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญ ดังนี้ 

1. ด้านการขับเคลื่อนประเทศ ในที่ประชุมกกร.วันนี้ได้รับเกียรติจากหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้แทนการค้าไทย มาให้ข้อมูลทิศทางการขับเคลื่อนการฟื้นตัวประเทศ เพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน คือ Better and Green Thailand 2030 ที่ประกอบ ด้วย 5 มาตรการหลัก  

  • ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม EV โดยมีเป้าหมายสร้าง GDP 2.1 แสนล้านบาท  
  • Smart Electronics โดยมีเป้าหมายสร้าง GDP 5 แสนล้านบาท 
  • ดึงดูดชาวต่างชาติ ที่มีศักยภาพสูงด้วยให้วีซ่าระยะยาว 10 ปี (LTR) โดยมีเป้าหมายสร้าง GDP 1 ล้านล้านบาท
  • อุตสาหกรรม Digital (Data Center and Cloud Service) โดยมีเป้าหมายสร้าง GDP 1 แสนล้านบาท 
  • Soft Power  โดยมีเป้าหมายสร้าง GDP 3 หมื่นล้านบาท 

ซี่งมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ เช่น การเปิดใช้วีซ่าระยะยาว 10 ปี (LTR) และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ หากสามารถผลักดันให้สำเร็จ จะเป็นผลดีกับประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งช่วยสร้าง GDP ได้ถึง 1.7 ล้านล้านล้านบาท และการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 6.25 แสนตำแหน่ง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 13% ภายในปี 2030สอดคล้องกับที่ประชุมกกร. ที่มองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็นในการช่วยขับเคลื่อนประเทศในอนาคตเช่นเดียวกัน จึงเห็นด้วยและพร้อมให้การสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย เพื่อมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้จุดแข็งของประเทศไทยในเรื่องของพลังงานสะอาดในการดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตมากขึ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่มีกำลังซื้อคุณภาพให้เข้ามาใช้จ่ายในประเทศ 

2. นอกจากนี้ จากการที่ กกร. ได้มีการหารือร่วมกับทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและนักธุรกิจญี่ปุ่น ในหลายมิติที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการขอ Business Visa สำหรับนักธุรกิจที่จะเข้ามาติดต่อธุรกิจระยะสั้นในไทย เช่น การเข้ามาเจรจาธุรกิจ การเข้ามาทำนิติกรรมสัญญาทางธุรกิจ เป็นต้น ซึ่ง กกร. เห็นด้วยกับแนวทางการปรับปรุงการขอ Business Visa เช่น การนำระบบ E-Visa มาใช้ในการยื่นเอกสาร Business Visa สำหรับนักธุรกิจที่จะเข้ามาติดต่อธุรกิจระยะสั้นในไทย การปรับลดเอกสารในการพิจารณา และลดระยะเวลาในการพิจารณา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติ สอดคล้องกับการที่ไทยมีการยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยครั้งใหญ่ กระตุ้นการท่องเที่ยว และเป็นการเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์ 

3. ด้านแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และค่าธรรมเนียม FIDF ที่ประชุมกกร.เห็นว่า มีความสอดคล้องกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางของนโยบายการคลังและความจำเป็นในการรักษาสมดุลด้านนโยบายในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก 

4.  สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ธนาคารกลางเมียนมา (Central Bank of Myanmar: CBM) ได้ออกคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อยระงับการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ รวมทั้งครอบคลุมการทำธุรกรรมในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่องนั้น กกร. พบว่า การค้าระหว่างไทย – เมียนมา ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2565 ขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่าการค้าอยู่ที่ 118,900.61 ล้านบาท โดยคิดเป็นการค้าชายแดนร้อยละ 91.64 ของมูลค่าการค้ารวม เป็นอันดับ 2 ของการค้าชายแดนไทย และหากพิจารณาถึงผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว จะสามารถแบ่งกลุ่มธุรกิจเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 

1) ด้านการค้าระหว่างไทย – เมียนมา (Trading Business) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 

  • กลุ่มธุรกิจการค้าชายแดน (Border Trade) ยังไม่ได้รับผลกระทบ  
  • การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการค้าขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ  

2) ด้านอุตสาหกรรมที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา (Investment) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 

  • กลุ่มการลงทุนทางตรง (FDI) หากเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินในไทยเป็นเงินบาท จะไม่ได้รับผลกระทบ  
  • กลุ่มการลงทุนภายใน หมายถึง บริษัทที่ลงทุนในเมียนมาอยู่แล้ว และได้นำผลกำไรที่เกิดขึ้นมาลงทุนขยายธุรกิจต่อ กลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบใด 

5. ตามที่มีการประชุม ABAC ครั้งที่ 3 ประเทศเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยเป็นประธานการจัดงาน ABAC 2022 นั้น กกร.จะมีกำหนดการแถลงข่าวการเข้าร่วมประชุมดังกล่าวในวันที่ 4 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 น. ณ โรงแรม มณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอสรุปผลการประชุมต่อไป

 

#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #COVID-19 #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH