กกร. คง GDP ปี'65 ขยายตัว 2.75 - 3.5% ห่วงปรับขึ้นค่าไฟ-ค่าแรง ดันต้นทุนธุรกิจพุ่ง
กกร. คงตัวเลขคาดการณ์ GDP ปี 2565 ยังอยู่ในกรอบ 2.75-3.5% ส่งออกขยายตัวได้ 6-8% เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 5.5-7% ห่วงปรับขึ้นค่าไฟ-ค่าแรงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ดันต้นทุนธุรกิจพุ่ง
การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนกันยายน 2565 โดยมี นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธาน กกร. นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธานร่วม เปิดเผยภายหลังการประชุม ณ ห้องราชมณเฑียร แกรนด์ บอลรูม ชั้น M โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพ ว่า เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงที่จะชะลอตัวกว่าที่คาด ประมาณการเติบโตของจีดีพีในประเทศสำคัญๆทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ถูกปรับลดลง โดยที่เศรษฐกิจยุโรปได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในครึ่งปีหลัง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของ หลายประเทศต่างอยู่ในระดับสูงเป็นภาวะ stagflation นอกจากนี้ความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจ โลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์มีเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ล่าสุดเป็นการระงับส่งก๊าซชั่วคราวของรัสเซียซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตพลังงานในยุโรป ปัญหาด้าน supply chain ในประเทศจีนจากการขาดแคลนพลังงานที่มีเหตุจากภัยแล้งรวมถึงการล็อกดาวน์ที่ทำให้มีผลลบต่อภาคการผลิต ปัจจัยเหล่านี้เพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งต้องติดตามเพื่อประเมินผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า
ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อในไทยยังสูงต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นในเดือนกันยายน ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างได้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เพิ่มแรงกดดันต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในประเทศ นอกจากนี้ค่าเงินบาทกลับมามีทิศทางอ่อนค่าลงภายหลังเฟดส่งสัญญาณ ขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อจากแนวโน้มส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินบาทกับดอลลาร์ที่จะมีมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าของไทยยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องและการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตลดลง
- ดัชนี PMI ก.ค. 65 ทั่วโลกชะลอตัวต่ำสุดรอบ 2 ปี
- Mazda เรียกร้อง 200 ซัพพลายเออร์ 'เลิกพึ่งจีน'
- ส่งออกไทย 2565 เดือน เม.ย. โต 9.9% เทียบปีก่อน
การท่องเที่ยวและมาตรการภาครัฐเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวชัดเจนขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1.12 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9 - 10 ล้านคน และในระยะข้างหน้ายังจะได้อานิสงส์จากการขยายเวลาวีซ่านักท่องเที่ยวเป็น 45 วัน ประกอบกับยังมีแรงหนุนกำลังซื้อจากมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 ซึ่งจะช่วยสนับสนุน เศรษฐกิจภายในประเทศท่ามกลางภาวะความเสี่ยงหลายประการ อย่างไรก็ดียังต้องติดตามการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ลดลงกว่าเดิม
โดย กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้จากการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ตามมา แต่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัวอย่างใกล้ชิดขึ้น
%YoY |
ปี 2565 (ณ ก.ค. 65) |
ปี 2565 (ณ ส.ค. 65) |
ปี 2565 (ณ ก.ย. 65) |
GDP | 2.75 ถึง 4.0 | 2.75 ถึง 3.5 | 2.75 ถึง 3.5 |
ส่งออก | 5.0 ถึง 7.0 | 6.0 ถึง 8.0 | 6.0 ถึง 8.0 |
เงินเฟ้อ | 5.0 ถึง 7.0 | 5.5 ถึง 7.0 | 5.5 ถึง 7.0 |
กกร. รับกังวลต้นทุนภาคธุรกิจ จะสูงขึ้นในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ ที่ประชุมกกร. มีความกังวลในเรื่องต้นทุนของภาคธุรกิจ ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ดังนี้
1. การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาท เป็น 4.72 บาท/ หน่วย ที่จะมีผลบังคับใช้ ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ โดยภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20 - 30 % ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และในส่วนของภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรม มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด
2. การปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
3. ต้นทุนด้านแรงงาน จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 และรวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ
ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ยังมีความเปราะบาง ที่ประชุมกกร. จึงขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบในการปรับขึ้นปัจจัยต้นทุนที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ขอให้ทยอยการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ระยะ แทนการปรับขึ้นครั้งเดียว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งควรรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบเพื่อออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการประกอบการดังกล่าว
#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #COVID-19 #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH