กกร. คาดการณ์ GDP ปี'66 ขยายตัว 3 - 3.5% ห่วงขึ้นค่าแรง 600 ดันต้นทุนธุรกิจพุ่ง 70%
กกร. คาดการณ์ตัวเลข GDP ปี 2566 เพิ่มขึ้นอยู่ในกรอบ 3.0 - 3.5% ส่งออกขยายตัวเพียง 1 - 2% เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 2.7 - 3.2% ห่วงขึ้นค่าแรง 600 บาท ดันต้นทุนภาคธุรกิจพุ่งเกือบ 70% ชี้ SME กระทบหนัก ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางรายอาจย้ายฐานผลิตไปประเทศอื่นแทน
การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนธันวาคม 2565 โดยมี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนธันวาคม 2565 โดยมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม ณ ห้อง Ballroom 1 โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออกอย่างชัดเจน กิจกรรมในภาคการผลิตของประเทศหลักไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ กลุ่ม EU ญี่ปุ่น และจีน ชะลอตัวลงพร้อมกันในเดือนพฤศจิกายน สอดคล้องกับการที่การส่งออกสินค้าหดตัวในประเทศที่มีความสำคัญด้านห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนการส่งออกของประเทศไทยก็หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือนในเดือนตุลาคม
สำหรับในปี 2566 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากภาวะการเงินที่ตึงตัว และวิกฤตเงินเฟ้อ โดยเขตเศรษฐกิจหลักเผชิญความเสี่ยงที่แตกต่างกัน สหรัฐฯ เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวแต่อาจไม่เกิดภาวะถดถอยเนื่องจากตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ขณะที่ยุโรปจะได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตพลังงานจึงมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนจีนที่กลับมาประสบปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่รวมถึงการต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์อาจซ้ำเติมเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในช่วงชะลอตัวจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในปี 2566 ด้วยแรงจากเครื่องยนต์เดียวคือภาคการท่องเที่ยว จึงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และยังมีสัญญาณของความเปราะบาง ภายใต้บริบทของการปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติ ในระยะข้างหน้าที่การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทั้งในมิติของการสร้างรายได้ให้กับประเทศ การจ้างงานให้กับแรงงาน และรายได้ให้กับครัวเรือน ซึ่งคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 20 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังมีสัญญาณของความเปราะบางที่สะท้อนให้เห็น เช่น สินเชื่อที่ถูกจัดชั้นว่ามีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้นมีสัดส่วนที่สูงขึ้น และผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังมีการค้างชำระเป็นสัดส่วนสูงแม้จะพ้นช่วงโควิด-19 มาแล้ว นอกจากนี้ เครื่องยนต์เดียวอาจมีแรงส่งไม่เพียงพอ ในภาวะที่ธุรกิจมีแรงกดดันจากภาวะต้นทุนจากค่าไฟ ค่าแรง และวัตถุดิบ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากบริบทของการปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะการปรับค่าธรรมเนียม FIDF ตั้งแต่ ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของระบบการเงิน และอาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับสูงขึ้นได้ถึง 0.4-0.6% ในคราวเดียว
สำหรับปี 2566 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจากปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ในขณะที่มีข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติ ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าประเทศคู่เทียบในภูมิภาคอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่การส่งออกประเมินว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.0% ถึง 2.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7 ถึง 3.2% สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังขยายตัวสอดคล้องกับกรอบการประมาณการที่เคยคาดไว้ จากอานิสงส์ของการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรก และตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศ
- ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ต.ค. 65 เพิ่มต่อเนื่องเดือนที่ 5
- กกร. คงเป้า GDP ปี'65 ขยายตัว 3 - 3.5% ส่งออกยังขยายตัวได้ 7 - 8%
- ส่งออกไทย 2565 เดือน ต.ค. หดตัว 4.4% ครั้งแรกในรอบ 20 เดือน
ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือเพื่อประคับประคองกลุ่มเปราะบางของ ธพ. ยังคงมีความจำเป็น เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงหลายด้าน เพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ และผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สามารถประคองตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้ โดยคำนึงถึงการส่งเสริมการออมเงินของประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าลดภาระทางการเงิน และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะพิจารณาและเสนอแนวทางการช่วยเหลือการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด
โดย กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบจากน้ำท่วมที่อยู่ในวงจำกัด ในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และทบทวนการถอนนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
%YoY |
ปี 2565 (ณ ต.ค. 65) |
ปี 2565 (ณ พ.ย. 65) |
ปี 2565 (ณ ธ.ค. 65) |
ปี 2566 (ณ ธ.ค. 65) |
GDP | 3.0 ถึง 3.5 | 3.0 ถึง 3.5 | 3.2 | 3.0 ถึง 3.5 |
ส่งออก | 7.0 ถึง 8.0 | 7.0 ถึง 8.0 | 7.25 | 1.0 ถึง 2.0 |
เงินเฟ้อ | 6.0 ถึง 6.5 | 6.0 ถึง 6.5 | 6.2 | 2.7 ถึง 3.2 |
ในประเด็นทิศทางดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.5% เป็น 1.25% ในปี 2565 และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2566 โดยที่ประชุม กกร. ประเมินว่าเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และมีความจำเป็นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ในคราวเดียว ตั้งแต่ ม.ค. 2566 ทำให้ต้นทุนในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการส่งผ่านนโยบายดังกล่าวจะเกิดขึ้นโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น การปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า
ระบบธนาคารพาณิชย์ได้ติดตามและประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า ณ เดือนกันยายน 2565 มีลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้เกิน 90 วันจากผลกระทบจากโควิด-19 อยู่ราว 3.2 ล้านราย โดยในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ราว 4.24 แสนราย เพิ่มขึ้นจาก 2.75 แสนรายในเดือนมกราคม 2565 นอกจากนี้ ยังพบว่าลูกหนี้ธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ประสบปัญหาในการชำระหนี้ 1 เดือนและ 2 เดือนขึ้นไป ยังคงเพิ่มขึ้นแม้โควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้ว ทั้งนี้ระบบธนาคารพาณิชย์จึงยังมีการกันสำรองในระดับสูงเพื่อให้มั่นใจในความมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันก็พร้อมให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในช่วงการเปลี่ยนผ่าน และพร้อมสนับสนุนการปรับตัวที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวแต่ยังมีความเปราะบาง กระทรวงการคลังจึงประสานงานกับสถาบันการเงินของรัฐจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างครบวงจร ซึ่งได้จัดไปแล้ว 2 ครั้ง ที่กรุงเทพฯ และขอนแก่น และจะจัดงานครั้งที่ 3 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2565 และในปี 2566 จะมีการจัดงานที่จ.ชลบุรี และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
นอกจากนี้ กกร. ยังได้มีการหารือประเด็นและข้อเสนอที่สำคัญ ดังนี้
1. ประเด็นการประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง เรื่องการทยอยขึ้น ค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาท และการจบปริญญาตรีมีเงินเดือน 25,000 บาท นั้น กกร. มีความเห็นว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา มีความเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดมากนัก ประกอบกับการขั้นค่าแรงขั้นต่ำมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยคำนึงถึง การครองชีพของลูกจ้าง รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ราคาสินค้า ฯลฯ
การพิจารณาปรับค่าแรงจึงต้องมองในทุกมิติ ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งมีผลต่อการจ้างงานโดยรวม จากกรณีขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันเมื่อปี 2554 ที่ถึงแม้จะดำเนินการได้สำเร็จ แต่ต้องยอมรับว่าช่วงแรกโดยเฉพาะ SME ปรับตัวค่อนข้างลำบาก ส่วนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางรายก็ปรับเป็นการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน ขณะเดียวกันหากทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน จากปัจจุบันที่ค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 328 – 354 บาทต่อวัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นการทยอยขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจอาจปรับตัวไม่ทัน
ขณะเดียวกันปีหน้า SME ยังคงมีปัญหาด้านรายได้และสภาพคล่องในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลก และมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งประเทศไทยยังมีหลายธุรกิจที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และ ภาคบริการ ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้ SMEs หยุดหรือยกเลิกกิจการ เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คงต้องมีการทบทวนแผนการจ้างงาน การชะลอการลงทุนในระยะสั้น หรือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้แทนแรงงาน รวมถึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศที่อาจชะลอลงเพราะต้นทุนค่าแรงของไทยสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่ง ซึ่งส่วนนี้จะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นอกจากนี้ แรงงานที่มีทักษะสูงในปัจจุบัน ต่างมีค่าจ้างที่สูงและมีความเหมาะสมอยู่แล้ว จึงควรมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานที่ยังคงมีทักษะไม่สูงมากนัก และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันควบคู่ไป และควรคำนึงถึงแรงงานที่ได้รับผลประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ เนื่องจากแรงงานปัจจุบันไทยอาศัยแรงงานต่างด้าวภาคการผลิตและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ความมุ่งหวังของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อแรงงานไทยมากเท่าที่ควร
แต่อย่างไรก็ตาม กกร.ยังเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามภาวะของสถานการณ์ เศรษฐกิจ และขึ้นอย่างมีขั้นมีตอนยังคงมีความจำเป็น หากได้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบ ด้าน เชื่อว่าการปรับค่าแรงในระดับที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อภาพเศรษฐกิจ การปรับขึ้นค่าจ้างควรมีความสอดคล้องกับการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based economy) และการพัฒนาทักษะ (Up-skill and re-skill) ของลูกจ้าง รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องพิจารณาถึงความสมดุลของค่าจ้าง ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง และควรอยู่บนพื้นฐานของทักษะ องค์ความรู้ และประสิทธิภาพของแรงงาน (Pay by Skill) รวมถึงการจูงใจให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงความสามารถ ในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งมีผลต่อการจ้างงานโดยรวม เพื่อให้การ เติบโตของระบบเศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง ทั่วถึง และยั่งยืน เชื่อว่าการปรับค่าแรงใน ระดับที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อภาพเศรษฐกิจ
2. ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับเข้าสู่ระดับปกติตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก จึงมีความเห็นว่านโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ และผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สามารถประคองตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้ โดยคำนึงถึงการส่งเสริมการออมเงินของประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าลดภาระทางการเงิน และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะพิจารณาและเสนอแนวทางการช่วยเหลือการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด
3. กกร. มีความกังวลเกี่ยวกับอัตราค่าไฟฟ้าที่ กกพ. ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นแนวทางการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของเดือนมกราคม - เมษายน 2566 ทั้ง 3 แนวทาง ตั้งแต่ 158 – 224 สตางค์/หน่วย (เพิ่มขึ้น 14-28%) ซึ่งกรณีมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงมากถึงสองงวดติดต่อกัน ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ ดังนั้น กกร. จึงเสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาชะลอการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของเดือนมกราคม - เมษายน 2566 ออกไปก่อน เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนและภาคธุรกิจ เนื่องจากแนวโน้มราคาค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าในปี 2566 ตามข้อมูลจาก กกพ. จะมีแนวโน้มชะลอตัวและลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 สอดคล้องกับการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยที่จะสามารถกลับมาผลิตได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน ก็จะทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH