กกร. ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี'66 ขยายตัว 2.5 - 3.0% เผย 20 กลุ่มอุตสาหกรรมยอดขายตก

กกร. ปรับลด GDP ปี'66 ขยายตัว 2.5 - 3.0% ชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแรง ภาคการผลิตหดตัว

อัปเดตล่าสุด 8 ก.ย. 2566
  • Share :
  • 5,421 Reads   

กกร. ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ปี 2566 เหลือ 2.5 ถึง 3.0% ส่งออกหดตัว -2.0 ถึง -0.5% เงินเฟ้อลดลงอยู่ในกรอบ 1.7 ถึง 2.2% เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงโดยเฉพาะจีน กดดันเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เติบโตต่ำกว่าคาด ขณะที่ 20 กลุ่มอุตสาหกรรมไทยยอดขาดลดลง หลังเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาจากสินค้าต่างประเทศ วอนภาครัฐเข้มงวดการนำเข้ามากขึ้น

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนกันยายน 2566 โดยมี นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธาน กกร. นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ร่วมในการแถลงข่าว เปิดเผยภายหลังการประชุม ณ ห้องประชุม 109 BCFG ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ในเดือนสิงหาคมของประเทศหลักยังหดตัว ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจในภาคบริการอ่อนแรงลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ จุดเปราะบางสำคัญคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้และกำลังซื้อที่หดตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 5% เท่านั้นและมีแนวโน้มจะลดลงในปีหน้า เศรษฐกิจโลกจึงได้รับแรงกดดันและส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยยังมีอุปสรรคในการฟื้นตัว

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัดโดยเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ที่ 2.5-3.0% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิม โดยเศรษฐกิจในไตรมาส 2 เติบโตเพียง 1.8% ต่ำกว่าประมาณการที่ 3.1% อย่างมาก โดยภาคเศรษฐกิจที่อ่อนแรงได้แก่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่มีการหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมา 10 เดือน และติดลบแทบทุกหมวด อีกทั้งการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีแนวโน้มล่าช้า นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าที่คาดเนื่องจากการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต่ำกว่าปกติอยู่ราว 13% และค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของคนไทยในการเที่ยวในประเทศต่ำกว่าปกติราว 33%

โดย กกร.มองว่าภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังสามารถเติบโตได้ระดับ 3.0% การเร่งรัดมาตรการด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศไว้จึงมีความจำเป็น ได้แก่ การลดภาระรายจ่ายค่าไฟและราคาน้ำมัน การผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณามาตรการเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตได้ ขณะที่เร่งจัดทำมาตรการเพื่อเสริมสร้างรายได้ ให้กับ SMEs และครัวเรือนเพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน

 

โดยที่ประชุม กกร. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตที่ประมาณ 2.5% ถึง 3.0% และประเมินว่ามูลค่าการส่งออกมีโอกาสหดตัวในกรอบ -2.0% ถึง -0.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่ายังอยู่ในกรอบ 1.7 ถึง 2.2%
 
 
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ของ กกร.
 
%YoY

ปี 2566

(ณ ก.ค. 66)

ปี 2566

(ณ ส.ค. 66)

ปี 2566

(ณ ก.ย. 66)

GDP  3.0 ถึง 3.5 3.0 ถึง 3.5 2.5 ถึง 3.0
ส่งออก -2.0 ถึง 0.0 -2.0 ถึง 0.0 -2.0 ถึง -0.5
เงินเฟ้อ 2.2 ถึง 2.7 2.2 ถึง 2.7 1.7 ถึง 2.2

ที่ประชุม กกร. มีความกังวลกับสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศที่ส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอตัว ประกอบกับสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานทะลักเข้ามาแข่งขันด้านราคาในตลาดไทย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเบื้องต้นมี 20 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มียอดขายลดลง และหากไม่มีมาตรการกำกับดูแลสินค้านำเข้าดังกล่าว ผลกระทบอาจจะขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ ดังนั้น กกร. จึงเสนอขอให้ภาครัฐเข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานโดยผ่านกลไกจากทั้ง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกรมศุลกากร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันควรต้องมีการสนับสนุนผู้ส่งออก อำนวยความสะดวกให้พิธีการศุลกากรมีความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น 

การท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสที่เหลือ ที่ประชุม กกร. มองว่า การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน มีจำนวนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงเสนอให้มีการเร่งรัดและออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะมาตรการ ฟรีวีซ่าโดยเร็ว รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าประเทศอย่างปลอดภัย

ที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่าด้วยดอกเบี้ยในปัจจุบันปรับขึ้นมาต่อเนื่องและอยู่ที่ระดับ 2.25% ซึ่งเป็นระดับสมดุลแล้ว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทำให้แรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ และสถาบันการเงินได้ชะลอการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ อีกทั้งกลไกตลาดเงินได้ปรับตัวแล้ว สะท้อนจากการแข่งขันในการระดมสภาพคล่องที่เข้มข้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งจากเงินถูกไหลไปสู่การลงทุนทางเลือก

 

#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH