กกร. วอนรัฐยกวัคซีนโควิดเป็นวาระแห่งชาติ คง GDP-ส่งออก ปี'64 ขยายตัวในกรอบเดิม

กกร. วอนรัฐยกวัคซีนโควิดเป็นวาระแห่งชาติ คง GDP-ส่งออก ปี'64 ขยายตัวในกรอบเดิม

อัปเดตล่าสุด 3 ก.พ. 2564
  • Share :

กกร. คงประมาณการ GDP ปี 2564 ขยายตัวในกรอบเดิม 1.5% ถึง 3.5% ส่งออกขยายตัวที่ 3.0% ถึง 5.0% ห่วงโควิดระลอกใหม่ซ้ำเติมธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น วอนรัฐยกวัคซีนโควิดเป็นวาระแห่งชาติ

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน กกร. , นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นประธานร่วม เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ถูกกดดันจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังไม่คลี่คลายและมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจำเป็นต้องเร่งตรวจเชิงรุกและแยกผู้ติดเชื้อ และ 2) มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมไปถึงการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ  ความท้าทายหลักจะอยู่ที่ตลาดแรงงานซึ่งมีความเปราะบาง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายจังหวัดได้ซ้ำเติมธุรกิจหลายประเภทที่ยังไม่ทันได้ฟื้นตัวจากการระบาดครั้งก่อน ทั้งนี้ คาดว่าแรงงานที่มีชั่วโมงการทำงานต่ำกว่าศักยภาพจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อโดยรวมลดลง

ขณะนี้หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินได้อย่างต่อเนื่องในปี 2564 แม้เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี 2564 จะมีแนวโน้มชะลอลง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นในหลายประเทศ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเหล่านั้นเริ่มลดลง ประกอบกับหลายประเทศดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้ว และมีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะสามารถกลับมาผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคได้ในระยะถัดไป ซึ่งจะทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ตลอดจนความสามารถในการส่งมอบวัคซีนในหลายประเทศที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป โดย กกร. ขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีน โดยให้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับต่างประเทศ ทั้งในภาคเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว (Vaccine Passport) ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐจัดทำกระบวนการและวิธีการในการฉีดและกระจายวัคซีนให้ชัดเจน และทั่วถึงเพียงพอต่อจำนวนประชากรในภายภาคหน้า รวมถึงแรงงานต่างด้าว โดยภาคเอกชนยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐเรื่องค่าใช้จ่าย โดยขอลดหย่อนภาษีเรื่องการฉีดวัคซีน

ด้านส่งออก กกร. ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้า และรองรับผลิตผลทางการเกษตรที่กำลังจะทยอยออกตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยขอให้ท่าเรือแหลมฉบังเปิดให้เรือแม่ขนาด 400 เมตร เข้ามามากที่สุด และลดค่าใช้จ่ายเพื่อจูงใจให้เร่งนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามาให้มากขึ้น

ทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในประเทศต่าง ๆ ส่วนสถานการณ์ในประเทศ หากสามารถควบคุมสถานการณ์โรคระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และผ่อนคลายมาตรการควบคุมที่จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ภายในไตรมาสแรก ประกอบกับมีมาตรการภาครัฐที่สามารถบรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจและกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด ที่ประชุม กกร. ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ที่จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.5% ประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 3% ถึง 5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8% ถึง 1.0%

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2563-2564 ของ กกร.

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในสหภาพเมียนมา กกร.มีข้อกังวลว่าหากมีการแทรกแซงทางการเมืองจากต่างประเทศ อาจส่งให้การค้าระหว่างไทยกับเมียนมาได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าจากไทย และขอให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจของรัฐบาลเมียนมาเป็นไปโดยสงบ และให้คงข้อตกลงหรือสัญญากับประชาคมต่าง ๆ

อนึ่ง กกร. ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการ Regional Digital Trade Connectivity (RDTC) ของ ASEAN-BAC ภายใต้ชื่อโครงการ Digital Trade Connect ที่ ASEAN-BAC ประเทศไทยเป็นผู้ผลักดัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลา และสร้างโอกาสให้ SME เข้าถึงการค้าระหว่างประเทศและเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น โดยดำเนินการเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนการทำธุรกรรมการค้าขายระหว่างประเทศจากเดิมที่เป็นการทำด้วยกระดาษที่ต้องมีการนำเข้าข้อมูลเดียวกันในระบบผู้เกี่ยวข้องหลายครั้งมาเป็นการทำที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันผ่านระบบดิจืทัล ผ่านการทำงานในการสร้าง Compatibility และ Connectivity ให้เกิดขึ้นในภูมิภาคที่ทำธุรกรรมการค้าแบบดิจิทัลร่วมกัน และที่ประชุมอยากให้ผลักดันให้โครงการดังกล่าวและโครงการ National Digital Trade Connectivity (NDTP) ของประเทศไทยให้สำเร็จและเกิดผลได้โดยเร็ว

 

อ่านต่อ: