กกร. ปรับ GDP ปี'65 ขยายตัว 2.75 - 3.5% วอนรัฐเร่งจ่ายงบฯ-ปรับราคาจัดซื้อจัดจ้าง เหตุต้นทุนพุ่ง
กกร. ปรับตัวเลขคาดการณ์ GDP ปี 2565 อยู่ในกรอบ 2.75-3.5% ส่งออกขยายตัว 5-7% เงินเฟ้อขยายตัว 5-7% วอนรัฐเร่งจ่ายงบเข้าระบบเศรษฐกิจ-ปรับราคากลางจัดซื้อจัดจ้าง ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น
การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนกรกฎาคม 2565 โดยมี นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธาน กกร. นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานร่วม เปิดเผยภายหลังการประชุม ณ ศูนย์ประชุม และแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางความเสี่ยงที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนและความสามารถในการบริหารต้นทุนของภาคการผลิต ขณะที่ต้นทุนทางการเงินกำลังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
ดังนั้น เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในช่วงครึ่งหลังของปีหากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและผลกระทบต่อราคาพลังงานยังไม่มีคลี่คลาย นอกจากนั้น เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างมากจากนโยบาย zero covid policy และอาจฟื้นตัวได้ช้าแม้รัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ทำให้ภาคการส่งออกของไทยเผชิญความท้าทายมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
อัตราเงินเฟ้อในระดับสูงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าการท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศจะฟื้นตัวได้ดีถึงระดับกว่า 80% ของภาวะปกติในช่วงครึ่งปีแรก และในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแรงส่งเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวจากช่วงครึ่งปีแรก แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงระดับ 6-8% ในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยทำให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนลดลง และต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการเงินในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย
- ล็อกดาวน์จีน กระทบดัชนี PMI เม.ย. 2022 ร่วงหนัก ต่ำกว่ารัสเซีย
- ส่งออกไทย 2565 เดือน เม.ย. โต 9.9% เทียบปีก่อน
- ช้ำอีกรอบ ‘โตโยต้า’ ประกาศลดกำลังการผลิตอีก 100,000 คัน มิ.ย. นี้
ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังโตได้ แต่ต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและธุรกิจในวงกว้างและยังรวมไปถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีผลต่อต้นทุนทางการเงินความท้าทายที่เพิ่มขึ้น
%YoY |
ปี 2565 (ณ พ.ค. 65) |
ปี 2565 (ณ มิ.ย. 65) |
ปี 2565 (ณ ก.ค. 65) |
GDP | 2.5 ถึง 4.0 | 2.5 ถึง 4.0 | 2.75 ถึง 3.5 |
ส่งออก | 3.0 ถึง 5.0 | 3.0 ถึง 5.0 | 5.0 ถึง 7.0 |
เงินเฟ้อ | 3.5 ถึง 5.5 | 3.5 ถึง 5.5 | 5.0 ถึง 7.0 |
จากสถานการณ์ที่กำลังจะเข้าสู่การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เนื่องจากปัจจัยในด้านเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันดีเซลที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนการผลิต/การขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น กกร.จึงอยากเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนใน 3 ด้าน ดังนี้
1. ขอให้ภาครัฐมีการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งรัดการดำเนินโครงการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนอ่อนแอ จากภาวะเงินเฟ้อสูง
2.ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับราคากลางจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความเหมาะสมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการ ที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานหรือด้านงานบริการกับภาครัฐ เนื่องจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ มีการปรับราคาสูงขึ้นกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้มาก เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
3. ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกธุรกิจภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง เช่น การเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งคาดหมายว่า หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้
#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #COVID-19 #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH