ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย อยู่ที่ 29.8 เอกชนวอนรัฐเร่งฟื้นความเชื่อมั่น

ดัชนี FBCI วัดความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติ ต่ำกว่าคาด อยู่ระดับ 29.8

อัปเดตล่าสุด 2 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 542 Reads   

♦ หอการค้าไทย เปิดตัวดัชนีสำรวจความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) ครั้งแรกอยู่ในระดับ 29.8 ต่ำกว่าที่มองไว้ 

♦ สะท้อนความไม่มั่นใจเศรษฐกิจ รายได้ กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้น

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้เปิดตัวดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก โดยสำรวจความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติ หอการค้าต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทยกว่า 40 ประเทศ และรายงานผลสำรวจทุกไตรมาสเพื่อสะท้อนภาพการค้า การลงทุน พร้อมทั้งข้อเสนอและสิ่งที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (Foreign Business Confidence Index : FBCI) และรายงานผลสำรวจดัชนีนักธุรกิจต่างชาติในไทยไตรมาสที่ 4/2563 จากจำนวน 40 ประเทศ ซึ่งมีสมาชิกรวม 8,470 สถานประกอบการ โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 30 ประเทศ จำนวน 119 ราย ตั้งแต่มกราคม - กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) อยู่ในระดับ 29.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ระดับ 27.6 และดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอยู่ที่ระดับ 32.1

โดยความกังวัลของนักธุรกิจต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทยทั้งด้านภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อในประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ สถานการณ์การท่องเที่ยง สภาพการจ้างงาน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับ 27.6 ขณะที่ปัจจัยด้านธุรกิจโดยเฉพาะผลกำไรและสภาพคล่องของธุรกิจส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอยู่ที่ระดับ 32.1

นอกจากนี้ ผลสำรวจทัศนะต่อเศรษฐกิจไทยพบว่า นักธุรกิจต่างประเทศส่วนใหญ่มองภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย กำลังซื้อในประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศมีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย และคาดว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ขณะที่ประเต็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ 

  • การว่างงานของแรงงานจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลต่ออำนาจซื้อ 26.5% 
  • การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจเอกชนทำให้เกิดการขาดสภาพคล่อง 14.3%
  • เสถียรภาพด้านการเมือง ทำให้ไม่แน่ใจทิศทางแนวโน้ม 13.4%
  • ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ซบเซาจากการระบาดของโควิด และการปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ 12.9%
  • การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทย 9.6%
  • กฎระเบียบที่ซับซ้อนในการดำเนินธุรกิจในไทย 8.3%
  • การบริหารจัดการสถานการณ์ COVID-19 ของรัฐบาลที่ทำให้เกิดการระบาดรอบสอง 7.7%
  • อื่น ๆ 7.3%

สำหรับผลสำรวจด้านธุรกิจพบว่า สถานการณ์ด้านธุรกิจโดยภาพรวมของนักธุรกิจต่างประเทศนั้นมีรายได้รวมและสภาพคล่องดีขึ้น มีคำสั่งซื้อดีขึ้น โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และมองว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าสถานการณ์ด้านธุรกิจจะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน นอกจากนี้ ได้ยกประเต็นปัญหาทางธุรกิจที่ต้องเผชิญอยู่ ได้แก่

  • อุปสงค์และกำลังซื้อที่หดตัว ทำให้ยอดขายชะลอตัวลง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 33.7%
  • รายรับธุรกิจหดตัวต่อเนื่อง 20.7%
  • ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น จากการดำเนินมาตรการช่วง COVID-19 ที่เข้มงวดของภาครัฐ 18.6%
  • การเข้าถึงแหล่งเงินทุนทำได้ยากขึ้น เพราะสถาบันการเงินเข้มงวด 10.3%
  • ความไม่มั่นใจต่อระยะเวลาและสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 7.9%
  • เสถียรภาพด้านการเมืองที่ไม่แน่นอนจากการประท้วงที่เกิดขึ้น 7.2%
  • อื่น ๆ 1.9%

สำหรับประเด็นหลักที่นักธุรกิจต่างชาติต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมไทย คือ มาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินให้กับภาคธุรกิจและ SMEs ไทยโดยรวม และธุรกิจที่เป็นคู่ค้า 19.5%, มาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 18.7%, แก้ไขกฎระเบียบที่ซับซ้อนในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ 17.1%, เปิดประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว 16.5%, สร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพด้านการเมืองและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล 16.2%, รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด 8.8%

ส่วนประเด็นหลักเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ ได้แก่ การผ่อนปรนมาตรการ COVID-19 เพื่อการดำเนินกิจการที่คล่องตัวขึ้น 22.6%, เร่งเปิดประเทศในรูปแบบที่ปลอดภัย เพื่อรับนักท่องเที่ยว 21.6%, มาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน 20.6%, Soft Loan หรือ แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อธุรกิจไทย และต่างประเทศ 16.5%, สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแก่ภาคธุรกิจต่างประเทศ แก้ไขข้อจำกัดและกฎระเบียบที่ซับซ้อนในการทำธุรกิจในไทยของบริษัทต่างชาติ 11.4%, และเร่งการนำเข้าหรือพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศ 5.1%