กกร. ขยับกรอบเงินเฟ้อ ปี'65 เพิ่ม 1.5-2.5% ห่วงราคาสินค้า-น้ำมันแพง ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า
กกร. คงตัวเลขคาดการณ์ GDP ปี 2565 อยู่ในกรอบ 3-4.5% ส่งออกขยายตัวที่ 3-5% แต่ปรับอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.5-2.5% ห่วงราคาสินค้า-น้ำมันแพง ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า
การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน กกร. นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า
การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงต้นปีมีแนวโน้มชะลอตัวบ้าง แต่ผลกระทบโดยรวมคาดว่าไม่รุนแรง หลายประเทศมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป แต่การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเข้มงวดน้อยกว่าในช่วงของการระบาดของสายพันธุ์เดลตามากเนื่องจากความรุนแรงของโรคลดลงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงชะลอลงบ้างแต่ส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ดังนั้น ภาคการส่งออกของไทยยังมีโอกาสที่จะเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ หากสามารถป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดมีผลกระทบรุนแรงต่อ supply chain ของภาคการผลิตได้
สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน มีโอกาสส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยในหลายมิติ หากสถานการณ์ลุกลามจนส่งผลให้สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ก็จะกดดันให้การค้าโลก รวมถึงการค้าระหว่างไทยและรัสเซียได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ หากทางรัสเซียตอบโต้ด้วยการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ จะยิ่งกดดันให้อุปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตึงตัวมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติอันดับที่สองของโลก อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่สูงอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเหล็ก และอลูมิเนียม ในกรณีที่แย่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในไตรมาสแรกของปี 2565 อาจพุ่งสูงกว่า 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดดังกล่าวต่อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะการท่องเที่ยว
ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงราคาสินค้าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาสินค้าและบริการในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จนเริ่มส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งปีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในกรอบ 1.5-2.5% โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 3% ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงกว่าที่ประมาณการได้
เศรษฐกิจปี 2565 มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้เนื่องจากสามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โอมิครอน) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องมีการ Lockdown อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้หลายช่องทาง รวมถึงเงินเฟ้อ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเตรียมการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงเพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นมาก จนกระทบกับผู้บริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยรวม
- กกร. คง GDP ปี'65 โต 3-4.5% ส่งออก 3-5% ชี้ “โอมิครอน” กระทบเศรษฐกิจไทยแต่ไม่มาก
- ต่างชาติแห่ลงทุนในไทย ปี'64 กว่า 8.2 หมื่นล้าน ญี่ปุ่นนำโด่ง
- ‘กรมเจรจาฯ’ ฟุ้ง FTA ดันส่งออกปี'64 โต 19% ทะลุ 5.2 ล้านล้านบาท
%YoY
|
ปี 2565 (ณ ม.ค. 65) |
ปี 2565 (ณ ก.พ. 65) |
GDP | 3.0 ถึง 4.5 | 3.0 ถึง 4.5 |
ส่งออก | 3.0 ถึง 5.0 | 3.0 ถึง 5.0 |
เงินเฟ้อ | 1.2 ถึง 2.0 | 1.5 ถึง 2.5 |
1) ขอความร่วมมือภาคเอกชนในการตรึงราคาสินค้า โดยขอให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบที่มีอยู่เพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาออกไปก่อน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน
2) ขอให้ภาครัฐตรึงราคาพลังงานเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้มภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยบรรเทาภาระต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ
3) ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ โดยปรับมาตรการ Test & Go ให้ลดจำนวนครั้งการตรวจ RT-PCR ให้เหลือเพียงวันที่เดินทางถึงไทย และให้ใช้วิธีการส่งผลตรวจ ATK ผ่านระบบ หลังการเดินทางเข้าประเทศ 5 วัน แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ภาคเอกชน โดย กกร. ขอมีส่วนร่วมในคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ( ศบค.) เพื่อเสนอแนะและให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการในสถานการณ์โควิด -19 ให้มาตรการที่ออกมามีประสิทธิภาพด้านสาธารณสุขควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการได้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากภาครัฐให้การสนับสนุน โดยผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า หรือมีมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ที่เป็นแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการ นั้นจะเป็นประโยชน์ทั้งส่งเสริมการป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ให้กับบุคลากร และลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลของหน่วยงานภาครัฐในอนาคตอย่างมาก
#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #COVID-19 #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH