กกร. หั่นเป้า GDP ปี 63 เหลือ -8.0% ถึง -5.0%
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. แถลงภายหลังการประชุม ว่า แม้ภาครัฐทยอยคลายล็อกให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะหดตัว จากกำลังซื้อที่อ่อนแอของครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะเดียวกัน การส่งออกและการท่องเที่ยวยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและสถานการณ์โควิดในต่างประเทศที่ยังไม่ยุติ ทิศทางดังกล่าว คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 หดตัวลงลึกสู่อัตราเลขสองหลัก จึงปรับลดเป้า GDP ไทย ปีนี้ เหลือ -8% ถึง -5%
ในช่วงครึ่งปีหลัง แนวโน้มเศรษฐกิจยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการระบาดของไวรัสโควิดในบางประเทศที่ยังรุนแรง ซึ่งจะทำให้การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศของไทยคงเกิดขึ้นอย่างจำกัด ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ แรงฉุดจากเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และประเทศอื่นๆ ตลอดจนเงินบาทที่แข็งค่า อาจยังกดดันการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
ทั้งนี้ มาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด ควบคู่กับแรงขับเคลื่อนจากกลไกภาครัฐผ่านการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะเข้ามาช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด อย่างไรก็ตาม การกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลา และจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ที่ประชุม กกร. จึงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงข้างหน้า ขณะที่ล่าสุดทั้ง IMF และธปท. ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงมาที่ -7.7% และ -8.1% ตามลำดับ ทั้งนี้ จากทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีประเด็นท้าทายอยู่มากดังกล่าว ในการประชุมรอบนี้ กกร. จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงมาเป็น -8.0% ถึง -5.0% (จากเดิม -5.0% ถึง -3.0%) ขณะที่ปรับลดกรอบประมาณการการส่งออกมาเป็น -10.0% ถึง -7.0% (จากเดิม -10.0% ถึง -5.0%) และปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาที่ -1.5% ถึง -1.0% (จากเดิม -1.5% ถึง 0.0%)
นอกจากการทบทวนกรอบประมาณการในปี 2563 แล้ว ที่ประชุม กกร. มีความเป็นห่วงเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าในอัตราที่เร็วกว่าสกุลเงินภูมิภาคในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และยังมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกในระยะข้างหน้า จากเงินดอลลาร์ฯที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อ่อนแอกว่าคาดและการดำเนินนโยบายอัดฉีด QE ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ กกร. กำหนดจัดงานเสวนา “ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี” วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ในหัวข้อ “กระบวนการ ขั้นตอน และระยะเวลาสำหรับการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ของประเทศไทย และบทบาทและทิศทางของประเทศไทยในเวทีการค้าพหุภาคี” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบข้อมูล ประสบการณ์ และแนวทางที่เป็นประโยชน์ รวมถึงมาตรการรองรับผลกระทบจากผู้แทนประเทศภาคี CPTPP ตลอดจน กระบวนการเจรจา ขั้นตอน และแนวทางการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ กกร.ได้ร่วมหารือรับมอบนโยบาย จากรองนายกสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน SME อย่างทั่วถึง โดยมี 1) กองทุน 50,000 ล้านบาท โดย สสว. เป็นผู้จัดตั้งกองทุน 2) การเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในกลุ่ม SME ซึ่งทั้งกลุ่มจะเตรียมนำเสนอ ครม. ในวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2563 หากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จะสามารถดำเนินการภายในเดือนสิงหาคม 2563 ทั้งนี้ กกร. ขอขอบคุณรัฐบาลที่เพิ่มมาตรการให้ความช่วยเหลือ SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้
อ่านต่อ: แถลงข่าว กกร. เดือน มิ.ย. 63