หอการค้า ปรับ GDP ปี 63 ติดลบ 9.4% Q2 ต่ำสุดประวัติการณ์หนักกว่าต้มยำกุ้ง

หอการค้า ปรับ GDP ปี 63 ติดลบ 9.4% Q2 ต่ำสุดประวัติการณ์หนักกว่าต้มยำกุ้ง

อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2563
  • Share :

ในการแถลงข่าว "ประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563" จัดโดย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์ฯ เปิดเผย การปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่ จากเดิมที่คาดว่า ปี 2563 จะติดลบ 4.9 ถึงติดลบ 3.4% เป็นติดลบอยู่ที่ 9.4% สาเหตุจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

โดยอัตราการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 2/2563 จะติดลบอยู่ที่ 15% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ หนักกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ไตรมาสที่ 2/2541 ที่ติดลบ 12.5%

ผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทย 

(1) การท่องเที่ยว สาเหตุจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหายไป และการท่องเที่ยวภายในประเทศยังถูกจำกัด

(2) การส่งออก สาเหตุจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย (Global Recession) และปัญหา Supply Chain Disruption

(3) การบริโภค/การลงทุนในประเทศ สาเหตุจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) มีผลทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจลดลง

คำสั่งซื้อ/รายได้ที่หดหาย และการปรับปรุง Supply Chain ทำให้ธุรกิจบางส่วนต้องเลิกกิจการ กระทบต่อแรงงาน 8.4 ล้านคนเสี่ยงถูกเลิกจ้างงาน ซึ่งแบ่งเป็นภาคการท่องเที่ยว 2.5 ล้านคน ภาคอุตสาหกรรม 1.5 ล้านคน และภาคบริการอื่น ๆ อีกราว 4.4 ล้านคน 

ในขณะที่กำลังซื้อภาคครัวเรือนจะหดตัวลงอย่างมาก ภายหลังสิ้นสุดมาตรการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท เนื่องจากกระทรวงการคลังยังคงยืนยันจ่ายเงินให้กลุ่มอาชีพ อิสระ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน จนถึงเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น และคงจะไม่ขยายออกไปอีก ซึ่งจะฉุดกำลังซื้อทำให้ค้าปลีกปี 63 อาจหดตัว 5-8%

เงินฝากท่วมแบงก์-SMEs เข้าไม่ถึงซอฟต์โลน

ภาคครัวเรือน/ภาคธุรกิจ ชะลอการใช้จ่ายและหันมาออมเงินมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย รวบรวมข้อมูลจากธนาคารต่าง ๆ พบว่า ยอดคงค้างเงินฝากในเดือนมีนาคม 2563 พุ่งขึ้นสูงราว 7.5 แสนล้านบาท (MoM) ส่วนมาตรการ New Normal มีผลทำให้การทำธุรกิจมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นสูง แต่รายได้กลับลดลง 

ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ปัจจุบันมีสินเชื่ออนุมัติแล้ว 107,210 ล้านบาท มีจำนวนผู้ได้รับซอฟต์โลนเพียง 64,772 ราย ตัวเลขเฉลี่ยราว 1.7 ล้านบาท/ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค. 2563)

หนี้เสีย (NPLs) อาจจะเพิ่มมากขึ้น หลังมาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือน สิ้นสุดลง และเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้าน อาจจะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่คาดหวัง 

ด้านการท่องเที่ยวมาตรการส่งเสริมภายในประเทศยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่ง Travel Bubble มีแนวโน้มถูกเลื่อนออกไป หรือถูกจำกัดขอบเขต เนื่องจากหลายประเทศยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 2

โดยศูนย์ฯ ได้แบ่งข้อสมมติฐาน ประกอบการวิเคราะห์สถานการณ์ในปี 2563 ออกเป็น 3 กรณี ดังนี้

กรณีฐาน 

  • ประเทศไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกครั้งภายใต้แนวทาง Travel Bubble แบบจำกัดขอบเขต (ทั้งจำนวนและพื้นที่) ได้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 63 เป็นต้นไป (ทำให้ปี 63 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเท่ากับ 7.0 ล้านคน หรือลดลง -82.3% YoY)
  • เม็ดเงินงบประมาณตามแผนงานฟื้นฟู ศก. (วงเงิน 400,000 ลบ.) ถูกอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจภายในปี 63 เพียงแค่ 25% ของวงเงิน (หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท)
  • ปริมาณการค้าโลกปี 63 (เมื่อเทียบกับปีก่อน) ลดลงประมาณ -9.0% YoY

กรณีที่แย่ที่สุด 

  • ประเทศไทยไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศภายใต้แนวทาง Travel Bubble ได้ (ทำให้ปี 63 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเท่ากับ 6.8 ล้านคน หรือลดลง -83.0% YoY)
  • เม็ดเงินงบประมาณตามแผนงานฟื้นฟู ศก. (วงเงิน 400,000 ลบ.) ยังไม่ถูกอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจภายในปี 63
  • ปริมาณการค้าโลกปี 63 (เมื่อเทียบกับปีก่อน) ลดลงประมาณ -12.0%YoY (หรือแย่กว่ากรณีฐานประมาณ 3%)

กรณีที่ดีที่สุด

  • ประเทศไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกครั้งภายใต้แนวทาง Travel Bubble แบบจำกัดขอบเขต (ทั้งจำนวนและพื้นที่) ได้ตั้งแต่เดือน ส.ค. 63 เป็นต้นไป (ทำให้ปี 63 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเท่ากับ 7.5 ล้านคน หรือลดลง -81.3%YoY)
  • เม็ดเงินงบประมาณตามแผนงานฟื้นฟู ศก. ถูกอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจภายในปี 63 เพียงแค่ 25% ของวงเงิน
  • ปริมาณการค้าโลกปี 63 (เมื่อเทียบกับปีก่อน) ลดลงประมาณ -7.5%YoY (หรือดีกว่ากรณีฐานประมาณ 1.5%)

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาครัฐ 

  • อนุมัติให้มีการจ้างงานแบบรายชั่วโมง (ชั่วคราว) เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเลิกจ้างแรงงานในภายหลัง
  • เพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจจ้างแรงงานที่เคยถูกเลิกจ้าง
  • พิจารณาขยายมาตรการพักชำระหนี้แบบอัตโนมัติออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน (รวมเป็น 12 เดือน)
  • ผ่อนคลายเงื่อนไข/ข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงวงเงินสินเชื่อ Soft Loan
  • ในกลั่นกรองโครงการที่ขอใช้เงินกู้ฯ/เงินงบประมาณปี 64 ควรให้น้ำหนักกับโครงการที่เน้นเพิ่มการจ้างงาน
  • ในตำแหน่งงานที่ถาวร/เพิ่มกำลังซื้อในระบบ (เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ มาตรการช้อปช่วยชาติ เป็นต้น)
  • เพิ่มกำลังซื้อในระบบจากคนที่ยังมีกำลัง โดยการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภค/การลงทุนในสินค้าคงทน (Durable Goods) เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ เป็นต้น