กกร. คงคาดการณ์ GDP ปี'66 ขยายตัว 2.5 - 3.0% ผวาส่งออกติดลบ 1 - 2%, คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน

กกร. คงคาดการณ์ GDP ปี'66 ขยายตัว 2.5 - 3% ผวาส่งออกติดลบ 1 - 2%

อัปเดตล่าสุด 1 พ.ย. 2566
  • Share :
  • 9,079 Reads   

กกร. คงคาดการณ์ GDP ปี 2566 อยู่ที่ 2.5 ถึง 3.0% หั่นส่งออกหดตัวที่ -2 ถึง -1% เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ 1.7 ถึง 2.2% ชี้สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ กระทบการส่งออกระยะถัดไป โดยสินค้าหลัก เกษตร-ยานยนต์ ยังขยายตัวในช่วงที่เหลือได้ พร้อมหนุนรัฐลดต้นทุน แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านแอปเป๋าตัง

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยมี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมในการแถลงข่าว เปิดเผยภายหลังการประชุม ณ ห้องประชุม 110 ABC ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก สงครามส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก หากสงครามรุนแรงและขยายวงกว้างไปถึงประเทศที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งสูงแตะระดับ 140-150 ดอลลาร์ฯ ต่อบาเรลได้ อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในวงจำกัด คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะยังอยู่ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาเรล และเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะกระทบ 0.1 - 0.3% เท่านั้น

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากสงครามจะผ่านช่องทางการค้า การท่องเที่ยว และราคาพลังงานยังไม่มากนัก ไทยมีการค้ากับอิสราเอล ปาเลสไตน์ และประเทศรอบข้างเพียง 1.5 พันล้านดอลลาร์ฯต่อปี หรือต่ำกว่า 0.3% ของการค้าระหว่างประเทศ และมีนักท่องเที่ยวราว 2 แสนคนต่อปี หรือต่ำกว่า 1% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่หากขยายวงกว้าง อาจกระทบกับการค้ากับตะวันออกกลางโดยรวม ซึ่งคิดเป็น 4% ของการส่งออกของไทยและกระทบกับต้นทุนนำเข้าพลังงาน ซึ่งเป็นภาระการคลัง และค่าครองชีพของผู้บริโภค 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยฟื้นชะลอลง กำลังซื้อของครัวเรือนไทยเริ่มแผ่วลง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มอยู่ที่ 28-29 ล้านคน น้อยกว่าประมาณการเดิมที่ 29-30 ล้านคน อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายมาตรการยกเว้นการขอวีซ่านักท่องเที่ยวเพิ่มเติมให้กับอินเดียและไต้หวันในช่วง High season รวมทั้งแรงหนุนจากมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนของภาครัฐ จะช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้

 

โดยที่ประชุม กกร. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตที่ประมาณ 2.5% ถึง 3.0% และประเมินว่ามูลค่าการส่งออกมีโอกาสหดตัวในกรอบ -2.0% ถึง -1.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่ายังอยู่ในกรอบ 1.7 ถึง 2.2%
 
 
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ของ กกร.
 
%YoY

ปี 2566

(ณ ก.ย. 66)

ปี 2566

(ณ ต.ค. 66)

ปี 2566

(ณ พ.ย. 66)

GDP  2.5 ถึง 3.0 2.5 ถึง 3.0 2.5 ถึง 3.0
ส่งออก -2.0 ถึง -0.5 -2.0 ถึง -0.5 -2.0 ถึง -1.0
เงินเฟ้อ 1.7 ถึง 2.2 1.7 ถึง 2.2 1.7 ถึง 2.2

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่า ประเด็นด้านสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจโลกให้เผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย คือ สินค้าเกษตร และยานยนต์ ยังมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี ที่ประชุม กกร.จึงได้ประมาณการส่งออกไว้เป็น -2.0 ถึง -1.0 

ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางอ่อนค่า แม้ว่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ แต่เป็นปัจจัยกดดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล จากความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น 

นอกจากนี้ กกร. ขอบคุณรัฐบาลที่ได้ที่มีมาตรการลดค่าครองชีพและต้นทุน ผู้ประกอบการ ทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ในช่วงที่ผ่านมา กกร. หวังว่ารัฐบาลจะเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนพลังงานของประเทศในระยะยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อนโยบายรัฐบาล ดังนี้

1. กกร. เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระเป๋าเงินดิจิทัล เพื่อช่วยประคับประคองกำลังซื้อภายในประเทศ และควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายและผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ชัดเจนในการเข้าร่วมโครงการ และควรใช้ระบบเดิมที่มีเสถียรภาพ ปลอดภัย และประชาชนมีความคุ้นชิน เน้นไปที่การต่อยอดและไม่ลงทุนซ้ำซ้อน รวมทั้งควรมีการส่งเสริมให้เกิดการซื้อสินค้าที่มีการผลิตในประเทศ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและต่อเนื่องให้กับกลุ่มเป้าหมาย เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและศักยภาพของประเทศ พร้อมทั้งสอดประสานกับนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ให้เกิดความต่อเนื่อง และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจไทย 

2. ในส่วนของนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กกร. เห็นว่าเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และผู้ประกอบการยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว จึงควรพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องตามสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานตามทักษะ (Pay by Skill) เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานควบคู่ไปกับประสิทธิภาพแรงงาน (Productivity) โดยที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินโครงการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว 88 สาขาวิชาชีพ เช่น ช่างเชื่อมโลหะ ช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักร ช่างประกอบยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งได้เริ่มทดสอบไปแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนศูนย์ทดสอบ เครื่องมือที่ไม่เพียงพอ รวมถึงงบประมาณในการสนับสนุน จึงไม่สามารถดำเนินโครงการได้เต็มศักยภาพ

 

#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH