ภาวะเศรษฐกิจโลก ไตรมาสที่ 2/2565

ภาวะเศรษฐกิจโลก ไตรมาส 2/2565

อัปเดตล่าสุด 3 ต.ค. 2565
  • Share :

กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สรุปภาวะเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวลงเนื่องจากระดับราคาพลังงานและเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ภาคการค้าและการผลิตหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่เป็นองค์ประกอบในการผลิต สำหรับอัตราการว่างงานในภาพรวมปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ภายหลังภาคบริการและการดำเนินวิถีชีวิตทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่จีนการว่างงานปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลจากการควบคุมโควิดที่เข้มข้น (Zero Covid) ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยเฉพาะสหรัฐฯ ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 1.50-1.75 เพื่อชะลอการเร่งตัวของเงินเฟ้อ

Advertisement

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งอุปทานการผลิตน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงและกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอาจผลิตน้ำมันไม่เพียงพอกับอุปสงค์ในตลาดโลก จึงเป็นปัจจัยให้ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงโดยราคาน้ำมันดิบดูไบ ไตรมาส 2 ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 108.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 67.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ด้านราคาน้ำมันดิบ NYMEX เดือนกรกฎาคมเฉลี่ยอยู่ที่ 100.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล

สำหรับประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลก อาทิ ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ อาทิ รัสเซีย-ยูเครน รวมถึง สหรัฐฯ จีน และไต้หวัน ซึ่งอาจซ้ำเติมปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งราคาพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ และความผันผวนของภาคการเงิน อาจส่งผลให้หลายประเทศเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการค้าในประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีซึ่งเป็นปัจจัยให้มีการผลิตป้อนตลาดส่งออกมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ ตลอดจนการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนในระยะถัดไปได้

โดยสรุป ภาวะเศรษฐกิจโลก ปริมาณการค้า และภาคการผลิต ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยการค้าและการผลิตบางอุตสาหกรรม
ได้รับผลกระทบจาก Supply Shortage และสถานการณ์เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯส่งผลให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดการเร่งตัวของเงินเฟ้อ

 

อ่านย้อนหลัง:

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH