“วิกฤติโควิด-19” พ่นพิษ ส่งออกไทยเสี่ยงติดลบสูงสุด 7.1% หอการค้าฯแนะธุรกิจปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

อัปเดตล่าสุด 2 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 583 Reads   

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้วิกฤติ โควิด-19 รุนแรงกระทบส่งออกไทยต่ำสุดในรอบ 10 ปี  ประเมินสถานการณ์ในกรณีแย่สุดส่งออกติดลบ 7.1% พร้อมแนะเอกชนต้องปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจ Online Grocery

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบจากวิกฤติ โควิด-19 ต่อการส่งออกของไทยไปตลาดโลกและตลาดจีน รวมถึงแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจ โดยแบ่งสมติฐานในการประเมินออกเป็น 3 กรณี ดังนี้

1. กรณีปกติ คือ สถานการณ์โควิด-19 จบภายใน 6 เดือน (เดือน ม.ค.-มิ.ย. 63) โอกาสในการเกิด 15%  อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 0.5% อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐฯ การเจรจาสงครามการค้าสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าก้าวหน้า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จบภายใน 6 เดือน (เดือน ม.ค.-มิ.ย. 63) ราคาน้ำมัน 40 ดอลล่าร์/บาร์เรล วิกฤติสหรัฐฯ-อิหร่าน มีความขัดแย้งแต่ไม่ใช้ปฏิบัติการทางทหาร ภัยแล้งจบก่อน พ.ค. 63

2. กรณีแย่ คือ สถานการณ์โควิด-19 จบภายใน 9 เดือน (เดือน ม.ค.- ก.ย. 63) โอกาสในการเกิด 35%  อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก -1.0% อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐฯ การเจรจาสงครามการค้าสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าก้าวหน้า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จบภายใน 9 เดือน (เดือน ม.ค.- ก.ย. 63) ราคาน้ำมัน 30 ดอลล่าร์/บาร์เรล วิกฤติสหรัฐฯ-อิหร่าน มีความขัดแย้งแต่ไม่ใช้ปฏิบัติการทางทหาร ภัยแล้งจบก่อน พ.ค. 63

3. กรณีแย่มาก คือ สถานการณ์โควิด-19 เกิน 9 เดือน (มากกว่าเดือน ก.ย. 63) โอกาสในการเกิด 50%  อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก -2.5% อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐฯ การเจรจาสงครามการค้าสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าไม่ก้าวหน้า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มีปัญหาตลอดทั้งปี (มากกว่าเดือนเดือน ก.ย. 63) ราคาน้ำมัน 20 ดอลล่าร์/บาร์เรล วิกฤติสหรัฐฯ-อิหร่าน มีความขัดแย้งและใช้ปฏิบัติการทางทหาร ภัยแล้งจบก่อน พ.ค. 63

ประเมินผลกระทบส่งออกของไทยไปตลาดโลก

ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกภายใต้สถานการณ์โควิด-19 OECD ประเมิน GDP โลกปี 2563 หดตัวเหลือ 1.6% จาก 2.9% ในปี 2562 ขณะที่ IMF ประเมินโควิด-19 ทำเศรษฐกิจโลกลดลงหนักกว่าวิกฤติซับไพรม์ และศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมิน GDP โลกลดลงระหว่าง -2.5% ถึง 0.5% ในปี 2563 โดยประเมินมูลค่าการส่งออกปี 2563 อยู่ที่ 228,816- 241,846 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโต -1.8% ถึง -7.1% ซึ่งวิกฤติโควิด-19 รุนแรงกระทบส่งออกไทยต่ำสุดใน “รอบ 10 ปี” ฉุดส่งออกไทยลดไป 431,360 ล้านบาท (ในกรณีแย่มาก) ทั้งนี้ 4 เหตุผลหลักที่กระทบส่งออกไทยลดลง คือ 

  1. เศรษฐกิจโลกตกต่ำจากโควิด-19 (80%) 
  2. ค่าเงินบาทผันผวน (10%) 
  3. สงครามการค้าสหรัฐฯ-ประเทศคู่ค้า (5%) 
  4. ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน (5%) 

 

ในกรณีแย่มาก การส่งออกไทยไปอาเซียนกระทบหนักสุด ลดลง 5 พันล้านดอลลาห์สหรัฐฯ รองลงมา คือ ฮ่องกง ลดลง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ลดลง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จีน ลดลง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยุโรปและสหรัฐฯ ลดลง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสามารถสรุปผลประเมินการส่งออกของไทยได้ดังนี้

  1. ประเมินผลกระทบกรณีปกติ : ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สงครามการค้า ค่าเงิน และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน มูลค่าการส่งออกรวมลดลง 4,399 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (140,768 ล้านบาท) อัตราการเติบโต -1.8% ส่วนผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเดียว มูลค่าการส่งออกรวมลดลง 4,119 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (131,808 ล้านบาท) อัตราการเติบโต -1.7% 
  2. ประเมินผลกระทบกรณีแย่ : ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สงครามการค้า ค่าเงิน และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน มูลค่าการส่งออกรวมลดลง 8,925 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (285,600 ล้านบาท) อัตราการเติบโต - 3.7% ขณะที่ผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเดียว มูลค่าการส่งออกรวมลดลง 6,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (215,680 ล้านบาท) อัตราการเติบโต -2.7% 
  3. ประเมินผลกระทบกรณีแย่มาก : ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สงครามการค้า ค่าเงิน และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน มูลค่าการส่งออกรวมลดลง 17,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (557,728 ล้านบาท) อัตราการเติบโต -7.1% และผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเดียว มูลค่าการส่งออกรวมลดลง 13,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (431,360 ล้านบาท) อัตราการเติบโต -5.5%

 
ประเมินผลกระทบส่งออกของไทยไปจีน

การประเมินมูลค่าการส่งออกไทยไปจีนปี 2563 อยู่ที่ 28,070 - 24,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโต -1.2% ถึง -13.5% ซึ่งส่งออกตลาดจีนหดตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี (กรณี : แย่มาก) 

ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไปจีนคิดเป็นสินค้าวัตถุดิบ 80% และสินค้าสำเร็จรูป 20% สินค้าสำเร็จรูปที่มีการส่งออกมากที่สุด คือ ผลไม้ 35.7% 

หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อมากกว่า เดือน ก.ย. ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2563 จะลดลง 13.5% กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 

  • กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปจีนลดลง -5.4% ถึง -30.0% หรือลดลงสูงสุดประมาณ 299 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้ากลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ น้ำมันจากพืชและสัตว์ (น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันจากปลา) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผักกระป๋องและผักแปรรูป เครื่องดื่ม (น้ำดื่ม สุรา ไวน์) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
  • กลุ่มสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปจีนลดลง –8.3% ถึง -22.0% หรือลดลงสูงสุดประมาณ 1,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มสินค้าเกษตรไทยที่มีการส่งออกไปจีน "ยังมีการตวรจสอบเข้ม" เพราะป้องกันโควิด สินค้ากลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ กุ้งต้มสุกแช่เย็น กุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง พืชน้ำมัน (ถั่วต่างๆ เมล็ดทานตะวัน ปาล์มน้ำมัน) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และข้าว 
  • กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปจีนลดลง 0.1% ถึง –14.2% หรือลดลงสูงสุดประมาณ 2,751 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อภาคการผลิตของจีนอย่างรุนแรง PMI ลดลงเหลือ 35.7 ในเดือน ก.พ. ลดลงจาก 50.0 ในเดือน ม.ค. ผลกระทบของ โควิด-19 ในแต่ละอุตสาหกรรมของจีนต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการและกลับมาผลิตได้เต็มกำลัง สินค้ากลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์

5 เหตุผลตลาดจีนชะลอเกิดจาก 1) รายได้คนจีนลดลง 2) การห้ามคนต่างชาติเข้าจีนเพื่อป้องกันโควิด ทำให้ธุรกิจล่าช้า (ประกาศเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2563) 3) ซื้อสินค้าเปลี่ยนไป E-Grocery 4) Lockdown ทั่วโลกขนส่งไม่ได้ และ 5) โรงงานจีนผลิตไม่เต็มศักยภาพ จากปัญหาทางวัตถุดิบและแรงงาน 

และ 5 เหตุผล : E-Grocery ผลไม้ในจีน เป็นเพราะ 1) ราคาถูกกว่า ทุเรียนขายปลีกในตลาดสดโลละ 70 หยวน สั่งออนไลน์โลละ 60 หยวน 2) ป้องกันการติด “COVID-19” 3) สินค้าไม่มีคุณภาพ รับคืน ส่งมาให้ใหม่ 4) ไม่ต้องจับเงิน 5) รับสินค้าภายใน 20-60 นาที 

สำหรับสาเหตุที่โลจิสติกส์จีนยังดำเนินไม่การสมบูรณ์ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากจีนล่าช้า (62%) การใช้เวลาที่ท่าเรือเพิ่มขึ้น (57%) แรงงานทำงาน (56%) โรงงานเดินเครื่อง (50%) ขนส่งสินค้าในจีนล่าช้า (48%) เกิดจากการล่าช้าที่ท่าเรือ (46%) (ที่มา : ISM)

โดยภาคเอกชนควรมีการปรับตัวภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ดังนี้

  1. ร่วมทำธุรกิจ Online Grocery ในประเทศและหาพาร์เนอร์ในต่างประเทศ
  2. ทำ Cost Sharing ในกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อลดภาระต้นทุน
  3. ขยายตลาดในประเทศโดยสร้างโปรโมชันที่จูงใจ
  4. ปรับปรุงเครื่องจักรที่ล้าสมัย
  5. พัฒนาศักยภาพแรงงาน เช่น ทักษะในการขายสินค้า online และพัฒนาฝีมือแรงงาน
  6. พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม