OECD เผย กลุ่ม G20 จะมีเพียง “จีน” เท่านั้นที่เศรษฐกิจ 2020 เติบโต
ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เปิดเผยคาดการณ์ปี 2020 GDP ทั่วโลกจะถดถอย 4.5% และในกลุ่มประเทศ G20 มีเพียงจีนประเทศเดียวที่ GDP เติบโต
รายงาน “OECD’s Interim Economic Outlook” ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2020 คาดการณ์ว่า ในปี 2020 GDP ทั่วโลกจะถดถอย 4.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของ IMF โดยช่วงไตรมาสที่ 3 มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรกเนื่องจากผลกระทบจากโควิดได้เบาบางลง
โดยกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับ 90% ของเศรษฐกิจโลก พบว่า GDP ในไตรมาสที่ 2 ลดลง 6.9% จากไตรมาสแรก โดยมีประเทศที่เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดคืออินเดีย ซึ่ง GDP ลดลง 25.2% ขณะที่เกาหลีใต้และรัสเซียเป็นสองประเทศที่เศรษฐกิจถดถอยน้อยที่สุดอยู่ที่ 3.2%
ในขณะที่จีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่มีรายงานการระบาดของโควิดมี GDP เพิ่มขึ้น 11.5% สืบเนื่องจากเป็นประเทศที่สามารถเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้ในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ต่างกับประเทศอื่น ๆ ที่เริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนในไตรมาสเดียวกันนี้
ในไตรมาสที่ 3 นั้น แม้จะยังไม่มีตัวเลขละเอียดเปิดเผยออกมาก็ตาม แต่ได้ปรากฏสัญญาณบวกของสหรัฐอเมริกาและจีน ด้วยการฟื้นตัวที่รวดเร็วกว่าคาดการณ์นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค่าเป็นอย่างยิ่งจากที่ทั้ง 2 ประเทศต่างเป็นประเทศขนาดใหญ่
โดย OECD คาดการณ์ว่า เมื่อปลายปีนี้ จะมีจีนเพียงประเทศเดียวในกลุ่ม G20 ที่เศรษฐกิจจะเติบโตอยู่ที่ 1.8% สวนทางกับค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม G20 ที่คาดว่าจะถดถอย 11.8% ก่อนพลิกกลับมาเติบโตในทุกประเทศสมาชิกในปี 2021 อย่างไรก็ตาม หากมีการระบาด หรือมีการล็อกดาวน์อีกครั้ง อาจทำให้ตัวเลขลดลงได้ 2-3%
“โลกกำลังประสบวิกฤตทางด้านสุขภาพ และภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการชะลอตัวต่ำสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และวิกฤตนี้ยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด แต่ก็มีหลายสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมา”
นั่นคือ ความเห็นของ Laurence Boone หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จาก OECD พร้อมแนะถึงสิ่งที่รัฐบาลแต่ละประเทศทำได้คือการหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดในช่วงต้นของวิกฤตโควิด หลีกเลี่ยงการด่วนตัดสินใจนโยบายทางการคลัง โดยย้ำว่า หากภาครัฐไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินต่อเอกชนแล้ว จะมีธุรกิจจำนวนมากต้องล้มละลาย นำมาซึ่งจำนวนคนตกงานที่เพิ่มขึ้น และจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจต่อไปอีกหลายปี
สำหรับภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือภาคบริการ โดยเฉพาะการคมนาคม บันเทิง และท่องเที่ยวซึ่งมีแนวโน้มล้มละลายสูงมาก โดยผลกระทบจะรุนแรงยิ่งขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและตลาดใหม่ (Emerging Market and Developing countries) ซึ่งอาจหมายถึงจำนวนคนตกงานอีกหลายล้านคน
โดย OECD เล็งเห็นว่าการรักษาตำแหน่งงาน ไม่เพียงจะหมายถึงความเป็นอยู่ของประชาชนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงกำลังผลิต และรายได้เข้าประเทศอีกด้วย จึงเสนอว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำในขณะนี้ คือการวางแผนฟื้นฟูอย่างยั่งยืน พัฒนาการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ ให้ความสำคัญกับแรงงานทักษะต่ำ และให้การสนับสนุนธุรกิจรายย่อยในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยแผนฟื้นฟูที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามสถานการณ์ภายนอก
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่จำเป็นต้องคำนึงถึงคือภาคเยาวชน ซึ่ง OECD ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะฝึกฝนพนักงานใหม่ให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซกเตอร์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งหากไม่มีนโยบายที่เหมาะสมแล้ว การขาดแคลนแรงงานในเซกเตอร์เหล่านั้นก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นอีกในอนาคต
อ่านต่อ
- ในไตรมาส 2/2020 เศรษฐกิจจีนได้พลิกฟื้นกลับมาเติบโต 3.2%
- GDP ญี่ปุ่นต่ำสุดในไตรมาสสอง ผลสะท้อนนโยบาย “อาเบะโนมิกส์”