เป็นไปแล้ว! ทรัมป์จับมือคิมจองอึน เชื่อ ส่งผลดีต่อการค้าโลก
การประชุมหารือครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือเพื่อลงนามในข้อตกลงร่วมกัน ณ โรงแรมคาเปลลา บนเกาะเซนโตซา ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้นผ่านพ้นไปได้ด้วยดี โดยประเด็นหลักของการพูดคุยในวันนั้นเน้นไปที่เรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
นาทีประวัติศาสตร์เริ่มต้นจากการจับมือของสองผู้นำ เหตุที่เรียกว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ หากมองย้อนกลับไปเมื่อช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ คงไม่มีใครคิดว่าจะเห็นภาพเหล่านี้เกิดขึ้น การหารือดังกล่าวเป็นไปอย่าง “ตัวต่อตัว” แล้วจึงเป็นแบบทวิภาคีในภายหลัง จากการหารือครั้งนี้เกาหลีเหนือได้แจ้งว่าจะเดินหน้ากระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์บนคาบสมุทรเกาหลี
ด้วยทางเกาหลีเหนือมุ่งหวังว่าผลจากการเจรจาครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อการเศรษฐกิจในประเทศ คาดว่าเกาหลีเหนือต้องการการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ และการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามการประชุมเพียงครั้งเดียวก็ยังไม่อาจแก้ไขประเด็นนิวเคลียร์ได้ในทันที อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี สองปี หรือมากกว่านั้นเพื่อแก้ไขเรื่องราวดังกล่าว
ข้อตกลงที่ผู้นำทั้งสองได้ทำการลงนามมี 4 ข้อหลัก ดังต่อไปนี้
1. สหรัฐและเกาหลีเหนือให้คำมั่นว่าจะสร้างความสัมพันธ์ใหม่ตามความปรารถนาของประชาชนทั้ง 2 ประเทศเพื่อสันติภาพ และความรุ่งเรือง
2. สหรัฐและเกาหลีเหนือจะร่วมกันสร้างระบอบสันติที่ยั่งยืนและมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลี
3. ยืนยันตามปฏิญญาปันมุมจอมวันที่ 27 เม.ย. 2561 เกาหลีเหนือให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าปลดนิวเคลียร์คาบสมุทรเกาหลีอย่างสมบูรณ์
4. สหรัฐและเกาหลีเหนือให้คำมั่นว่าจะค้นหาร่างเชลยสงคราม และ/หรือ ทหารที่สูญหายขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งเร่งส่งคืนร่างที่พบแล้ว
จากการลงนามดังกล่าว ทรัมป์ได้ประกาศว่า จะนำไปสู่กลไกรักษาสันติภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลีนั้น นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อการค้าโลกอย่างแน่นอน เพราะช่วยลดความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเป็นจุดเปราะบางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกมาตั้งแต่ตอนที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งลงไปได้ระดับหนึ่ง ซึ่งการที่สองประเทศมีข้อตกลงระหว่างกันจะทำให้การค้าโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ตลอดจนตลาดเงิน ตลาดทุน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในระยะยาว
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ของไทย คาดว่าจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจโลก ดังนี้
ปัจจุบันการค้าโดยตรงระหว่างไทยและเกาหลีเหนือ มีมูลค่าน้อยมากที่ 2.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560 (ข้อมูลจากกรมศุลกากร) คิดเป็นสัดส่วน 0.0005 ของมูลค่าการค้ารวมของไทยส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติที่ห้ามค้าขายสินค้าบางประเภทกับเกาหลีเหนือ
แต่หากเกาหลีเหนือมีการฟื้นฟูการค้ากับต่างประเทศ จะเป็นโอกาสให้ไทยขยายการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยที่ตลาดเกาหลีเหนือมีความต้องการ นอกจากการค้าขายกับเกาหลีเหนือโดยตรงที่น่าจะขยายตัวได้แล้ว การค้าขายสินค้ากับจีนที่เป็นสินค้าขั้นกลาง (intermediate) น่าจะเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีการห้ามค้าขายกับเกาหลีเหนือผ่านประเทศที่สามอยู่บางส่วน
สำหรับปี 2560 เกาหลีเหนือมีมูลค้าการค้าระหว่างประเทศ 5,378 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม สินแร่และเชื้อเพลิง อาหารทะเล เหล็กและเหล็กกล้า ผักและผลไม้ ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ ผ้าผืนและสิ่งทอ ทั้งนี้ จีนถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของเกาหลีเหนือ โดยมีมูลค่าการค้าขายระหว่างกัน 5,005 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสหรัฐฯ ยังไม่ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือ เพราะต้องการติดตามดูว่า เกาหลีเหนือจะปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ ดังนั้นผู้ประกอบการและผู้ส่งออก-นำเข้าของไทย จึงยังควรติดตามสถานการณ์อีกระยะหนึ่ง แต่ในภาพรวม ไทยมองว่าเป็นผลดีกับการค้าระหว่างประเทศโดยรวม และต่อการค้าไทยอย่างแน่นอน