การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยในเดือนมีนาคม 2561

อัปเดตล่าสุด 24 เม.ย. 2561
  • Share :
  • 790 Reads   

การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2561 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 22,363 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นอัตราขยายตัวที่ร้อยละ 7.1 โดยการส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะตลาดอินเดีย อาเซียน 5 CLMV และสหรัฐฯ มีการขยายตัวในระดับสูง สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวครั้งแรกในรอบ 16 เดือน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของยางพารา และน้ำตาลทราย

การส่งออกไทยในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวร้อยละ 11.3 หรือคิดเป็นมูลค่า 62,829 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงได้แก่  อินเดีย เอเชียใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 15 ไตรมาส (69.8) และดัชนีคาดการณ์ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกที่อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (68.4) โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสําปะหลัง

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 13 ที่ร้อยละ 7.7 (YoY) โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 18.2  (ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และจีน) น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 49.0 (ส่งออกไปตลาด กัมพูชา สิงคโปร์ ลาว มาเลเซีย และเมียนมา) เม็ดพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 15.8 (ส่งออกไปยังจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และอินเดีย) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 19.0  (ขยายตัวใน ฮ่องกง จีน สหรัฐฯ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น) ไตรมาสแรกของปี 2561 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 11.8

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ขยายตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้น จีน เนื่องจากผลกระทบจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าและการหดตัวของการส่งออกยางพาราตามราคาที่ลดลงในตลาดโลก โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 8.6 ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออกไป สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (15) และญี่ปุ่นที่ขยายตัวร้อยละ  11.1 8.7 และ 5.7 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.3 โดยการส่งออกอินเดียยังขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 21.7 ประกอบกับการส่งออกไป อาเซียน 5 และ CLMV ขยายตัวร้อยละ 20.7 และ 14.0 ตามลำดับ ด้านตลาดศักยภาพระดับรองฟื้นตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 5.9 โดยการส่งออกไปตะวันออกกลาง ทวีปออสเตรเลีย และ รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 10.6 6.2 และ 3.4 ตามลำดับ

โดยตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.1 ซึ่งเป็นผลมาจากวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ (มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของการส่งออกไปสหรัฐฯ) ซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 43.1 ด้านสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล ข้าว และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.3

ตลาดสหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 8.7 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องยนต์สันดาป โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ และเครื่องปรับอากาศฯ เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 10.0

ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 5.7 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกล เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 23.4

ตลาดจีน หดตัวร้อยละ 8.7 เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า (ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 47.8) รวมทั้งการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางหดตัวตามราคายางพาราในตลาดโลกที่ลดลง อย่างไรก็ตามสินค้าสำคัญอื่นๆ ทั้ง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และเครื่องคอมพิวเตอร์ยังคงขยายตัวสูง ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 0.6

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 16.9 โดยการส่งออกไปอินเดียขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.6 และขยายตัวมากกว่า 2 หลัก ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ด้านสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศฯ ไขมันและน้ำมันฯ เม็ดพลาสติก เหล็กและผลิตภัณฑ์ และ ปูนซิเมนต์ เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 23.7

ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 14.0 โดยขยายตัวทุกตลาด ส่วนตลาดเมียนมาร์เริ่มฟื้นตัวหลังจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินจ๊าดที่ลดลงตามราคาสินค้าทางการเกษตรของเมียนมาร์ที่ลดลงมาก ด้านสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.5

ตลาดอาเซียน(5) ขยายตัวร้อยละ 20.7 โดยเป็นการขยายตัวทุกตลาด ด้านสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องยนต์สันดาปฯ ข้าว และ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 15.7

ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 10.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ รถยนต์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ และ เครื่องจักรกลฯ เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 10.4

ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 6.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.8

ตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 3.4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เครื่องจักรกลฯ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องยนต์สันดาปฯ และ เครื่องปรับอากาศฯ เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 43.0

ตลาดลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 4.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรศัพท์ และอุปกรณ์ฯ ยางพารา แผงสวิทซ์  หม้อแปลงไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.3

แนวโน้มการส่งออกปี 2561

การส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในเกณฑ์ดี และมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวได้ดีจากการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น จีน และหลายภูมิภาคในเอเชีย ขยายตัวได้ดีจากการส่งออก และการผลิต อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาท และมาตรการกีดกันทางการค้า ที่นอกจากจะกระทบต่อการส่งออกไปยังตลาดที่เป็นคู่ขัดแย้งแล้ว ยังอาจส่งผลในวงกว้างไปยังตลาดอื่นๆ ที่เป็นตลาดรองรับการส่งออกสินค้าที่ถูกกีดกันในตลาดคู่ขัดแย้งอีกด้วย ดังนั้นผู้ส่งออกต้องเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยง กระจายสินค้าไปยังตลาดใหม่ ทำประกันความเสี่ยงในหลากหลายรูปแบบเพื่อลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ